Google เปิดตัว “Digital Twin” จำลองเครื่องมือสำหรับโลจิสติกส์และภาคการผลิต

0

Google เปิดตัว Supply Chain Twin โซลูชัน Google Cloud ตัวใหม่ที่ช่วยให้บริษัทสามารถสร้าง Digital Twin จำลองห่วงโซ่อุทาน (Supply Chain) โดยจัดระเบียบข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมของซัพพลายเออร์ สินค้าคงคลัง และเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างสภาพอากาศ ควบคู่มากับ Supply Chain Pulse Module ที่ใช้คู่กับ Supply Chain Twin ในการแสดงผลวิเคราะห์ขั้นสูงบนแดชบอร์ด การแจ้งเตือน และการทำงานร่วมกับ Google Workspace

บริษัทส่วนใหญ่ไม่เห็นภาพห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ประสบปัญหาสินค้าขาดสต็อกในร้านผู้ค้าปลีกและมีสินค้าหมดอายุที่ทางผู้ผลิต ซึ่งในปี 2020 สินค้าขาดสต็อกเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าสูงถึง 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ ยิ่งมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานช่วงปีที่แล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุอันเนื่องมาจาก COVID-19 หรือเรือที่ขวางคลองสุเอช ต่างก็แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นสำหรับข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินงานเพื่อปรับแนวทางการดำเนินงานและจัดการสินค้าคงคลังให้ทันท่วงที

ด้วย Supply Chain Twin นี้เอง บริษัทต่าง ๆ ก็สามารถนำข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งมาทำให้เห็นเป็นชุดข้อมูลที่แชร์ร่วมกับซัพพลายเออร์และพาร์ตเนอร์คู่ค้าได้ โดยโซลูชันดังกล่าวรองรับระบบของธุรกิจองค์กรที่มีตำแหน่งองค์กร ผลิตภัณฑ์ คำสั่งซื้อ และข้อมูลการจัดการสินค้าคงคลัง พร้อมกับข้อมูลจากซัพพลายเออร์และพาร์ตเนอร์ เช่น ระดับสินค้าในสต็อกกับสินค้าคงคลัง และสถานะการขนส่ง นอกจากนี้ Supply Chain Twin ก็ดึงข้อมูลจากแหล่งสาธารณะ เช่น สภาพอากาศ ความเสี่ยง และความยั่งยืนด้วยเช่นกัน

ส่วน Supply Chain Pulse ที่พึ่งเปิดตัววานนี้มอบความสามารถในการมองเห็นแบบเรียลไทม์ การจัดการเหตุการณ์ การเพิ่มประสิทธิภาพและการจำลองที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยสามารถเจาะลึกไปในตัวชี้วัดการปฏิบัติงานด้วย Dashboard วัดประสิทธิภาพที่ช่วยให้ดูสถานะห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนที่ทำงานเมื่อมาตรวัดถึงเกณฑ์ที่ผู้ใช้กำหนดและสร้างเวิร์กโฟลว์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้

Supply Chain Twin และ Supply Chain Pulse ออกมาหลังจากการเปิดตัว Visual Inspection AI ของ Google อีกหนึ่งโซลูชันด้านอุตสาหกรรมที่นำ AI มาหาจุดบกพร่องในสินค้าที่ผลิตออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เจ้าของธุรกิจต่างเร่งดำเนินการปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยไปพร้อม ๆ กับการฟื้นตัวของโลจิสติกส์ การผลิต การขายปลีก และสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงนี้