งานวิจัยเผย การเปิดกล้องเป็นเวลานานทำให้พนักงานเหนื่อยล้าและรู้สึกมีส่วนร่วมน้อยลง

0

การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้องค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงานอย่างกระทันหันและพยายามสรรหาวิธีที่จะช่วยให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้ในระดับใกล้เคียงกับการทำงานในออฟฟิศปกติมากที่สุด หนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือการเปิดกล้อง ทั้งในการประชุมออนไลน์และทำงานทั่วไป เพื่อให้พนักงานรู้สึกได้ถึงบรรยากาศการร่วมงาน และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ทว่างานวิจัยล่าสุดที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาและการบริหาร จัดทำร่วมกับ BroadPath ชี้ให้เห็นว่า การเปิดกล้องตลอดเวลาหรือเปิดกล้องเป็นเวลานานนั้น ทำให้พนักงานเหนื่อยล้าและรู้สึกมีส่วนร่วมกับงานน้อยลง

นักวิจัยด้านจิตวิทยาและการบริหารองค์กร (Shockley, K. M., Gabriel, A. S., Robertson, D. และคณะ) ร่วมกับ BroadPath บริษัทให้บริการธุรกิจที่เปิดให้พนักงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้มามากกว่า 10 ปี ออกแบบงานวิจัยเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการเปิดกล้องในการทำงาน พวกเขากำหนดให้พนักงานจำนวนหนึ่งเปิดกล้องตลอดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงสลับให้พนักงานจำนวนที่เหลือมาเปิดกล้องแทนใน 2 สัปดาห์หลัง และมีการทำการสำรวจสั้นๆรายวัน เพื่อวัดผลคความรู้สึกของพนักงานใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ระดับพลังงาน (เหนื่อยหรือไม่) การมีส่วนร่วม และเสียงในการแสดงออก (รู้สึกว่าได้แสดงความคิดเห็นและมีคนรับฟังหรือไม่)

ผลการศึกษาจากพนักงาน 103 ราย เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าการเปิดกล้องนั้นมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเหนื่อยล้า ในขณะที่จำนวนชั่วโมงในการประชุมนั้นไม่มีผลนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเปิดกล้องอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนล้า

ผลการสำรวจยังพบว่าความเหนื่อยล้านั้นทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมและมีเสียงในการแสดงออกลดลง ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ดั้งเดิมของการเปิดกล้องที่เชื่อกันว่าการเห็นหน้ากันจะช่วยให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมและได้แสดงออกถึงความคิดเห็นตนมากขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยฉบับนี้ยังพบว่าพนักงานบางกลุ่มได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มพนักงานหญิง และกลุ่มพนักงานใหม่ ที่รายงานว่าเหนื่อยล้ามากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยคาดการณ์ว่าเป็นเพราะแรงกดดันในการเปิดกล้องนั้นมีมากกว่า เพราะผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้ดูดีอยู่เสมอ และมักรับหน้าที่หลักในการดูแลลูก ซึ่งอาจถูกรบกวนโดยครอบครัวหรือเด็กๆมากกว่า ในขณะที่พนักงานใหม่ก็เผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำงานได้ดีและเหมาะสมกับองค์กร และปรับตัวเข้ากับการทำงานร่วมกับองค์กรใหม่ๆไปพร้อมกัน

เมื่อผลลัพธ์ของการวิจัยออกมาเช่นนี้แล้ว นักวิจัยจึงเสนอแนะให้องค์กรและผู้จัดการมีการพูดคุยกันภายในทีมมากขึ้น ถึงผลกระทบ ความรู้สึก และความสมัครใจของพนักงานในการเปิดกล้อง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้พนักงานเหนื่อยล้า และสร้างการมีส่วนร่วมกับงานที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

งานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Applied Psychology ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียด สามารถเข้าไปได้ที่ https://psycnet.apa.org/record/2021-77825-003