3 แนวทาง Empower พนักงาน เพื่อการทำงานที่มีความสุข และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

0

ผู้ที่มีความสนใจด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กร คงจะเคยเห็นผ่านตาเป็นอย่างดีกับวลี “Empowering Employees” ที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขขึ้น มีผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้น และสร้างความประทับใจให้พนักงานอยู่กับองค์กรไม่ย้ายออกไปไหน

รู้จักกับการ Empower พนักงานกันก่อน

พนักงานเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดภายในองค์กร และมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จขององค์กร แต่พนักงานต่างจากส่วนประกอบอื่นๆขององค์กรตรงที่พวกเขาเป็นมนุษย์ ทำให้นอกจากการวางกลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพของการทำงานแล้ว องค์กรสมัยใหม่จำนวนมากจึงออกแบบการทำงานให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ และมีสุขภาพกายและจิตที่ดีอยู่เสมอด้วย

การ Empower พนักงาน (Employee Empowerment) หรือที่แปลตรงตัวว่าการให้อำนาจ หรือการเพิ่มพลังให้พนักงานนั้น เป็นขั้นตอนที่มีแนวทางปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ โดยเป็นที่ยอมรับกันว่าเมื่อองค์กร Empower พนักงาน และพนักงานมี “อำนาจ” ในการทำสิ่งต่างๆมากขึ้นแล้ว พวกเขาจะทำงานได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้พนักงานมีผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้น และมีความอยากเปลี่ยนงานน้อยลง โดยการ Empower พนักงานนั้น จะช่วยยกระดับทั้งขั้นตอนการทำงาน บรรยากาศในการทำงาน และความรู้สึกของพนักงาน

Empower พนักงานได้อย่างไรบ้าง

การเพิ่มพลังให้กับพนักงานนั้นทำได้ด้วย Action แบบ แตกต่างกันออกไปตามลักษณะงานและพื้นฐานขององค์กร โดยในที่นี่ จะขอแนะนำ 3 แนวทางใหญ่ๆในการดำเนินการ ที่องค์กรสามารถนำไปออกแบบ Action ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองได้

1. ให้ความยืดหยุ่นและอำนาจในการตัดสินใจ

การ Empower พนักงานนั้นเป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจพอๆกับการส่งเสริมให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากขึ้น ปัจจัยที่สำคัญของทั้งสองสิ่งนี้ คือการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆมากขึ้น และการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการทำงาน โดยอาจเริ่มจากเรื่องที่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ เช่น การให้พนักงานเป็นผู้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานด้วยตัวเอง การเปิดให้พนักงานเลือกเครื่องมือในการทำงาน หรือกำหนดเป้าหมายของโปรเจกต์ที่คิดว่าเหมาะสม เป็นต้น

จากการสำรวจพนักงานกว่า 5,000 รายโดย Gartner ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา พวกเขาพบว่าพนักงานนั้นให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงานด้านต่างๆเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการทำงานนอกออฟฟิศ โดยพนักงานต้องการความยืดหยุ่นทั้งในการกำหนดสถานที่ทำงาน เวลาทำงาน ปริมาณงานที่เหมาะสม เนื้อหาของงาน และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหากองค์กรมอบความไว้เนื้อเชื่อใจและให้อิสระกับพวกเขา องค์กรอาจมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นกว่า 40% เลยทีเดียว

การให้ความยืนหยุ่นในระดับ ‘Radical Flexibility’ แก่พนักงาน อาจสร้างพนักงานประสิทธิภาพสูงให้กับองค์กรได้เพิ่มขึ้นกว่า 40% (ที่มา: Gartner – Redsigning Wokr for a Hybrid Future)

ความยืดหยุ่นที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะสำหรับการทำงานในออฟฟิศ หรือผู้ที่ทำงานแบบ Remote เท่านั้น องค์กรสามารถให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานที่ทำงานอยู่ในสถานที่จริงด้วย เช่น การให้พนักงานขายหน้าร้านสามารถเลือกสาขาในการทำงาน และพื้นที่ในร้านที่ต้องดูแลได้ การให้พนักงานก่อสร้างได้เลือกโปรเจกต์ที่พวกเขาอยากทำ หรือการให้พนักงานบริการในสถานที่ได้เลือกเพื่อนร่วมงาน

หลายองค์กรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและอำนาจในการตัดสินใจกำหนดสิ่งต่างๆของพนักงาน และปรับโครงสร้างและวิธีการงานขององค์กรให้ส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้ เช่น บางองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทดลองเปลี่ยนตำแหน่งงาน และทำเรื่องขอย้ายไปในแผนกที่พวกเขาสนใจได้ บางองค์กรมีการจัดตั้งทีมและโปรเจกต์ร่วมระหว่างแผนกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานมีทางเลือกเกี่ยวกับเนื้อหางานที่จะทำ

2. เตรียมทรัพยากรที่จำเป็น

อีกแง่มุมหนึ่งของการ Empower เพิ่มพลังให้กับพนักงาน คือการอำนวยความสะดวกให้พวกเขาสามารถทำงานและจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการ Empower ในหมวดหมู่นี้ คือการจัดหาเครื่องมือและทรัพยากรที่เหมาะสมกับการทำงานให้พนักงานได้ใช้ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น และเกิดไอเดียในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่อาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กร

เราได้เห็นความนิยมของแพลตฟอร์ม Self-service ที่เติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยีและความต้องการของธุรกิจ และในอีกส่วนหนึ่งก็เพราะเครื่องมือ Self-service หรือเครื่องมือแบบ Low-code และ No-code นั้นช่วยให้พนักงานสามารถทำงานในรูปแบบใหม่ที่พวกเขาไม่เคยทำได้มาก่อน เปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาทักษะของตัวเอง และมีเครื่องมือที่ดีในการสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร เช่น แพลตฟอร์มด้านข้อมูล ช่วยให้พนักงานฝ่ายขายสามารถเรียกข้อมูลที่น่าสนใจออกมาทำการวิเคราะห์แบบง่ายๆ และนำความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ไปปรับปรุงการทำงานของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อองค์กรแล้ว ยังเป็นผลดีต่อความรู้สึกของพนักงาน และช่วยก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการทดลองอะไรใหม่ๆ และพัฒนาการทำงานอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรด้านอื่นๆที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานโดยตรง เช่น แพลตฟอร์ม HR ที่ช่วยให้พนักงานสามารถจัดการกิจการต่างๆได้ด้วยตัวเอง แพลตฟอร์มการเรียนรู้หรือคอร์สอบรมที่ช่วยเสริมทักษะให้กับพนักงาน หรือกิจกรรมภายในองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาสามารถควบคุมชีวิต และพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่อยากเป็นได้

3. สร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นพนักงาน

การได้รับการยอมรับนั้นเป็นหนึ่งในความต้องการทางจิตใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่มีใครชอบการถูกละเลย หรือการรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า เพื่อช่วยไม่ให้พนักงานมีความรู้สึกเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความรู้สึกที่พนักงานมีต่อองค์กร องค์กรจึงต้องพยายามสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เปิดกว้างต่อความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้กับพนักงานทุกคน

การให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายๆ แต่หลายองค์กรก็ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการกระทำนัก เพราะการบริหารความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีแบบแผนตายตัว และต้องใช้ความพยายามอย่างสม่ำเสมอในการทำ การกระทำในแบบเดียวกันอาจได้ผลลัพธ์แตกต่างออกไปจากเดิมในครั้งที่สอง และอาจได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามสำหรับพนักงานอีกคน

ผู้บริหารและผู้ที่อยู่ในระดับผู้จัดการมีบทบาทเป็นอย่างมากในการสร้างวัฒนธรรมนี้ โดยพวกเขาจะต้องทำความรู้จักกับลักษณะนิสัยและพื้นเพของพนักงานแต่ละคน คอยกระตุ้นให้เกิดการแสดงความคิดเห็น คอยสังเกตและพูดคุยกับพนักงานเมื่อพวกเขาไม่มีส่วนร่วมมากนักในการหารือ การติดตามผลอยู่เสมอว่าพนักงานรู้สึกว่าความคิดเห็นของพวกเขาถูกรับฟังหรือไม่ และจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง รวมไปถึงการจัดการกับความขัดแย้ง และการประนีประนอมให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น

ถึงจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่การสร้างวัฒนธรรมของการรับฟังนั้นจะช่วยให้พนักงานมี Engagement กับงานและเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ และทำงานได้โดยไม่มีความรู้สึกติดค้างในใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อบรรยากาศในการทำงาน ความสุขในการทำงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน

เพราะพนักงานนั้นไม่ใช่แค่ชิ้นส่วนขององค์กร

ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา พนักงานจำนวนมากได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทดลองการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ และหลายคนก็ขบคิดถึงเป้าหมาย ความหมาย และการใช้ชีวิตที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าหลังวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้น รูปแบบของการทำงานจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ส่วนหนึ่งก็เพราะพนักงานมีความต้องการและความคาดหวังต่อองค์กรที่เปลี่ยนไปด้วย

บทความนี้เป็นเพียงการสรุปใจความที่ได้จากแนวโน้ม ข้อมูล และคำแนะนำต่างๆหลายแหล่ง ถึงอนาคตของการทำงาน กลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กร และแนวทางในการบริหารและพัฒนาบุคลากรในองค์กร หวังว่าจะให้ไอเดีย และมีประเด็นที่ผู้อ่านเก็บไปขบคิดเพื่อปรับใช้ในการทำงานต่อได้

ศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคในการ Empower พนักงานเพิ่มเติมได้ที่