รู้จักกับ Neuromining เหมืองข้อมูลสมองวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์

0

ในช่วงยุคที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่มีการใช้งานแพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ตามที่ได้เห็นในหลาย ๆ พัฒนาการและ Use Case ที่เริ่มใช้งานจริงแล้ว และในที่สุดก็เริ่มเข้าใกล้สู่ยุคของ Neuromining ที่จะเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลสมองของมนุษย์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมมนุษย์กันบ้างแล้ว

Neuromining เป็นอีกหนึ่งในการคาดการณ์ที่ทาง Gartner ทำนายไว้ว่า “ภายในปี 2027 ที่จะถึงนี้ หนึ่งในสี่ของ 20 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะถูกแทนที่โดยบริษัทที่มีเหมืองข้อมูลสมอง (Neuromine) และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมระดับจิตใต้สำนึกในวงกว้าง (at scale)” สิ่งนี้คืออะไร ? มันจะมาเกี่ยวข้องกับข้อมูลสมองของเราหรือไม่ ?

นิยามคำว่า Neuromining ที่ทาง Techopedia อธิบายไว้นั้นคือ “กระบวนการในการประยุกต์ใช้ความฉลาดทางพฤติกรรม (Behavioral Intelligence) ร่วมกับเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning : ML) แบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ โดยเป้าหมายคือเพื่อเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ในเชิงลึก และทำให้สามารถจัดการหรือจูงใจได้ในวงกว้าง (at scale)”

Neuromining นั้นจึงเป็นเหมือนขั้นกว่าของการวิเคราะห์พฤติกรรม (Behavioral Analysis) ที่จะมุ่งหวังที่จะทำให้บริการต่าง ๆ สามารถให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันได้กับทุก ๆ ผู้ใช้ในระดับที่ลึกขึ้น ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะความสนใจหรือกิจกรรมที่เคยทำก่อนหน้าเพียงเท่านั้น อย่างเช่น การรู้ได้ว่าถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น มนุษย์ก็จะทำสิ่งนั้นออกมา หรือว่าการไปสถานที่แห่งหนึ่งเนื่องจากเกิดอะไรบางอย่างในสมอง เป็นต้น และด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค Machine Learning จึงทำให้การทำ Neuroming สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์จำนวนมากพร้อม ๆ กันได้เลย

จะเห็นได้ว่าหากองค์กรที่มีการทำ Neuroming หรือเหมืองข้อมูลสมองก็จะสามารถประยุกต์ใช้หรือสร้างเป็นบริการแบบใหม่ได้อย่างหลากหลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยเช่นการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships) หรือการมีส่วนร่วมกับพนักงานนั้นดีขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะสามารถทำนายได้เลยว่าข้อความส่งเสริมการขายหรือโฆษณาแบบใดที่อาจจะทำให้ได้ผลในแต่ละบุคคล (Personalized) ได้ดีที่สุด เป็นต้น

แต่ทว่าในการทำ AI หรือ ML หรือเหมืองข้อมูล (Data Mining) หรือเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบดั้งเดิมนั้นมักจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลมหาศาลเพื่อที่จะค้นหา insight หรือเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) หรือว่ากฎหมายการปกป้องข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นก็อาจจะยิ่งทำให้ข้อมูลยิ่งน้อยลงไปอีก แล้ว Neuromining จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นั่่นจึงเป็นที่มาของการใช้ “ข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetic data)” ที่ข้อมูลจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยระบบ AI หรือ ML ที่เทรนมาเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ข้อมูลเป็นอิสระจากข้อมูลของคนจริง ๆ อีกทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลในอนาคตไปได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าโลกกำลังวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่อง และ Neuromining นั้นก็คงจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าจะยังมีความท้าทายอีกมากทั้งเรื่องการสร้างข้อมูลมหาศาลขึ้นมาและการใช้พลังในการประมวลผล ซึ่งถ้าหากถึงวันที่ Neuromining เกิดขึ้นจริงมาถึงแล้ว ไม่แน่เหมือนกันว่ามนุษยชาติอาจจะถูกควบคุมพฤติกรรมโดยกลุ่มคนบางกลุ่มหรือบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ก็เป็นได้