Baidu คาดการณ์ 10 เทรนด์ AI แห่งปี 2022: ยานยนต์อัตโนมัติ การประมวลผลควอนตัม อวกาศ มนุษย์กับจักรกล

0

Baidu Research ออกรายงาน “10 เทรนด์เทคโนโลยีในปี 2022” ที่คาดการณ์ถึงเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงปีนี้ โดยเน้นไปที่เรื่อง AI เป็นหลัก ซึ่ง Haifeng Wang CTO แห่ง Baidu มองว่า AI เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมและการพัฒนา เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การเชื่อมต่อข้ามโดเมน และการใช้งานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

10 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งปี 2022 ที่ Baidu คาดการณ์ไว้จะมีอะไรบ้าง มาร่วมอัปเดตกันได้ในบทความนี้

Autonomous Driving

ในฐานะที่ Baidu เป็นผู้ให้บริการแท็กซี่อัตโนมัติในปักกิ่งครอบคลุมพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร ก็ไม่น่าแปลกใจที่ยานยนต์ไร้คนขับหรือ “Robocar” จะกลายมาเป็นยานยนต์รุ่นใหม่ที่ปฏิวัติวงการการขนส่ง ที่จะเข้าแทรกซึมตั้งแต่พาหนะส่วนบุคคล ขนส่งสาธารณะ การขนส่งทางบก การกระจายคลังสินค้า ค้าปลีก การสุขาภิบาล และการปฏิบัติการพิเศษในเหมืองและท่าเรือ ซึ่งจะสร้างมูลค่ามหาศาลและความก้าวหน้าต่อสังคม

Image credit: Adobe Stock

Inclusive AI

Baidu เผยว่า AI จะไม่ได้เป็นประโยชน์แค่เฉพาะผู้ที่พัฒนาระบบ AI เพียงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้งานทั่ว ๆ ที่จะได้รับประโยชน์จาก AI มากยิ่งขึ้น  โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นความต้องการของ SME และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างผู้สูงอายุและเด็ก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้าน AI อีกต่อไป องค์กรตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์ม Opensource เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจด้วยการสนับสนุนแหล่งนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น อันเป็นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเร่งสร้างนวัตกรรม ทำให้การพัฒนา AI เกิดประโยชน์แก่ทุกกลุ่มในสังคม

Image credit: Baidu Research

Integration of Quantum Hardware and Software

“ควอนตัม” เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดย Baidu Research คิดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะยังคงพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปจะเริ่มสามารถเข้าถึงทางเลือกใช้งานแพลตฟอร์มการประมวลผลควอนตัมต่าง ๆ ได้ เช่น ระบบ Cloud-Native Quantum Computing Platform ซึ่งก็จะค่อย ๆ พิสูจน์ศักยภาพในเชิงพาณิชย์ว่า การเชื่อมโยงระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ของควอนตัมนั้นสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวได้จริงหรือไม่

Image credit: Shutterstock

Large-Scale Pre-Training Models

การใช้โมเดลที่ฝึกฝนมาแล้ว (Pre-trained Models) ด้วยชุดข้อมูลขนาดใหญ่นั้นกำลังเป็นเทรนด์ที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะเปรียบเสมือน “การต่อยอดความรู้” เพื่อที่จะทำให้โมเดล AI หนึ่งสามารถทำงานได้เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น เรียนรู้ได้หลากหลายแบบมากขึ้น และลดการขึ้นต่อข้อมูล Labeled Data ที่ต้องให้มนุษย์มาติดป้ายข้อมูล เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดใช้งานในบริบทของชีวิตจริงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนี้คาดว่า เราจะเริ่มเห็นงานวิจัยพัฒนาที่จะพยายามลดขนาดของโมเดลลงไปมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในทางปฏิบัติในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพความสามารถต่าง ๆ ไว้ด้วย

Image credit: Baidu Research

AI for Science

AI มีการใช้งานแพร่หลายเพื่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ทาง Baidu Research มองว่า AI จะกลายเป็นการวิจัยสาขาใหม่ที่มีศักยภาพในการหลอมรวมกระบวนทัศน์ของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สองแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งการลดการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและทฤษฎี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า AI จะผสานรวมกับแขนงวิชาอื่น ๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี วัสดุและวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงการมีบทบาทมากขึ้นในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

Image credit: Baidu Research

AI-Powered Computational Biology

ชีววิทยาเชิงคำนวณบนพื้นฐานของเทคโนโลยี AI จะยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนบรรลุความก้าวหน้าในการวิจัยพื้นฐานและการใช้งานในบริบทที่หลากหลาย อันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีน mRNA ที่ได้นำ AI มาใช้เพื่อความแม่นยำและเร่งความเร็วในการตัดแต่งจีโนมหรือคาดการณ์โครงสร้างการม้วนพับโปรตีน ภายหลังจากนี้ AI จะถูกนำมาใช้ในการคิดค้นยาที่ใช้โปรตีน การผสมยา การตรวจคัดกรองยา การรักษามะเร็ง และการสร้างภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและลดภาระของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วย

Image credit: Baidu Research

Privacy computing

ในยุคที่ความมั่นคงปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกำหนดมีความสำคัญยิ่ง Baidu Research ระบุว่า Privacy computing ก็ไม่ถูกละเลย ในแง่ของการปกป้องข้อมูล การแชร์และส่งต่อข้อมูล ซึ่งในระยะยาว เทคโนโลยีดังกล่าวจะผลักดันการหมุนเวียนข้อมูลที่เข้ารหัสและการคำนวณเป็นแบบค่าเริ่มต้น ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ใช้งานเชื่อมั่นได้ในการใช้งานต่าง ๆ เช่น ชีววิทยาเชิงคำนวณ การวิเคราะห์ทางการเงิน และธุรกรรมข้อมูล

Image credit: Baidu Research

Deep Space Exploration

AI และเทคโนโลยีทางอวกาศจะปลดล็อกโอกาสใหม่สำหรับการสำรวจจักรวาลอวกาศ สืบเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนายานอวกาศอัตโนมัติที่สามารถตัดสินใจได้เอง พร้อมกับแขนจักรกลติดเซนเซอร์ที่ช่วยให้สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เอง และระบบอัตโนมติที่ทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง อีกทั้งสามารถตรวจพบและซ่อมแซมตัวเองได้ด้วย รวมถึงการสร้างห้องแล็บจำลองฝาแฝดดิจิทัลและการระบุวิเคราะห์ข้อมูล Big data ของอวกาศ ทั้งหมดนี้เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการขุดหาแหล่งทรัพยากรบนดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ดวงอื่น นอกเหนือจากการสำรวจอวกาศเพิ่มเติม

Image credit: Baidu Research

Human-machine symbiosis

การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นจุดเริ่มต้นของการปรากฏตัวของมนุษย์ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะยังคงจำเป็นสำหรับหลาย ๆ คนในอนาคตอันใกล้ โดย Baidu Research เล็งเห็นว่า มนุษย์จะกลายร่างมาเป็นอวตารและหุ่นยนต์ ซึ่งแน่นอนว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในการจำลองความรู้สึกต่าง ๆ ของมนุษย์ และ XR (Extended reality) ก็จะได้รับการพัฒนาขึ้น แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะเป็นที่ต้องการของตลาด จนเกิดเป็นการผสมผสานประสบการณ์เสมือนจริงเข้ากับโลกจริงทั้งในมุมของผู้บริโภคและคนทำงาน และจะเข้ามาผนวกรวมกับเศรษฐกิจ “จริง” ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกต่อไป

Image credit: Baidu Research

Green AI

ในขณะที่เทคโนโลยี AI วิวัฒนาการมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในศูนย์ข้อมูลและการประมวล AI ขนาดใหญ่ แต่นั่นก็มาพร้อมกับมูลค่าที่สูญเสียไปกับพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Baidu มองภาพการนำเครื่องมือ AI ไปใช้เพื่อความยั่งยืน เช่น การคิดค้นตัวประมวลผล AI ที่มีพลังการประมวลผลที่สูงขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลง อีกทั้งการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้กับงานต่าง ๆ เช่น การปรับอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงาน ตั้งเป้าลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ เป็นต้น

Image credit: Baidu Research