นักโบราณคดีอาจมีตัวช่วยใหม่ในการถอดอักขระโบราณเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยความช่วยเหลือจาก AI โดยล่าสุด DeepMind ได้สร้างโมเดล AI ชื่อว่า Ithaca ที่ไม่เพียงแต่ช่วยแกะข้อความที่หายไปจากจารึกกรีกโบราณ แต่ยังบอกได้ว่าข้อความนั้นเขียนไว้เมื่อใด (ภายในขอบเขตระยะเวลา 30 ปี) และที่มาทางภูมิศาสตร์ที่น่าจะเป็น
ข้อความในจารึกมักจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ทำให้การแกะรอยนั้นนับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อข้อความเหล่านั้นปรากฏอยู่บนหินหรือเหล็ก ดังนั้น การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) จึงใช้ในการระบุช่วงเวลาที่เขียนจารึกไม่ได้ นักโบราณคดีจึงต้องเปรียบเทียบข้อความคล้าย ๆ กันจากจารึกอื่น ซึ่งนับเป็นเรื่องยากสำหรับคนในการแกะวิเคราะห์หารูปแบบดังกล่าวจากข้อมูลทั้งหมดที่มี จุดนี้เองที่ AI เข้ามาช่วย
โมเดล Ithaca ถูกฝึกมาจากชุดข้อมูลของจารึกกรีก 78,608 ชุด ซึ่งในแต่ละจารึกมีข้อมูลกำกับเรื่องสถานที่และเวลาที่มีการบันทึกจารึกไว้ AI ตัวนี้ก็ใช้วิธีการมองหารูปแบบของข้อมูล เข้ารหัสข้อมูลในรูปแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน และใช้ข้อมูลอ้างอิงเหล่านั้นในการแกะข้อความ ระบุเวลาและที่มาได้
ในงานวิจัยที่เผยแพร่ทาง Nature นั้น นักวิจัยผู้สร้างโมเดลดังกล่าวเผยว่า ระบบมีความแม่นยำ 62 เปอร์เซ็นต์เมื่อถอดข้อความจากต้นฉบับที่ถูกทำลายบางส่วน อีกทั้งยังระบุแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ของจารึกจาก 84 ภูมิภาคของโลกยุคโบราณได้แม่นยำถึง 71 เปอร์เซ็นต์ และสามารถระบุช่วงเวลาที่จารึกข้อความได้โดยเฉลี่ยภายในช่วง 30 ปี
ศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก Roger Bagnall หวังว่า Ithaca นี้จะสามารถขยายผลไปยังภาษาโบราณอื่น ๆ ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาษาที่มีตัวอย่างน้อยมาก ๆ “พัฒนาการของ Ithaca นั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ได้เห็นถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ Pythia ที่ทำให้มีความหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม ด้วยการเรียนรู้แบบ iterative ที่ได้ความร่วมมือกันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ จึงทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้”
งานวิจัยนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการนำเอาระบบ AI มาประยุกต์ใช้ ซึ่งถ้าหากสามารถถอดรหัสภาษากรีกโบราณที่มีเขียนจารึกไว้เหล่านี้ได้สำเร็จ ก็อาจจะสามารถไขความลับหรือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตให้แจ่มชัดขึ้นมาได้และทำให้เข้าใจถึงความเป็นมาหรือที่มาที่ไปของโลกใบนี้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี โมเดล Ithaca ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระจากผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นเพียงอีกเครื่องมือที่เข้ามาช่วยนักประวัติศาสตร์ในการศึกษาโบราณวัตถุ ยังไม่ถือว่าเป็น AI นักประวัติศาสตร์แบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ DeepMind ได้ร่วมมือกับทาง Google Cloud และ Google Arts & Culture เพื่อเปิดตัวเวอร์ชัน Ithaca แบบอินเทอร์แอคทีฟ พร้อมกับเปิดเผย Opensource และโมเดลที่สนับสนุนในระบบ AI ดังกล่าวไว้ด้วยแล้วบน GitHub
นักพัฒนาสามารถเข้าไปทดลองใช้งานโมเดล Ithaca ได้ที่ https://ithaca.deepmind.com/