อุปสรรคอย่างหนึ่งของผู้พิการทางสายตาคือ การเรียนรู้และมีส่วนร่วมในวงสนทนาร่วมกับคนปกติที่มักใช้ภาษากายในการสื่อสารร่วมด้วย บางทีก็ไม่รู้ว่ามีใครพึ่งเข้าห้องมาหรือมีใครกำลังมองมาที่ตนอยู่ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแปลกแยกและหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมได้ Microsoft จึงพัฒนาโปรเจกต์วิจัยชื่อว่า PeopleLens ที่เปิดให้โอกาสให้เด็กผู้พิการทางสายตาได้มีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์ยิ่งขึ้น
PeopleLens เป็นอุปกรณ์แว่น AR ระบบ AI แบบ Open-ended ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้รับรู้ถึงสถานการณ์แวดล้อมและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้
PeopleLens มีชุดอุปกรณ์สวมศีรษะที่จะอ่านออกเสียงชื่อคู่สนทนาในขณะที่เด็กผู้ใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวมองไปที่เขา ซึ่งหมายความว่าเสียงพูดมาจากทิศนั้น และช่วยให้เด็กรับรู้ถึงตำแหน่งของบุคคลนั้น PeopleLens จะสร้าง People Map เป็นแผนที่จำลองแสดงตำแหน่งของคู่สนทนาที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก เพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในมุมของคู่สนทนาเองก็จะทราบว่า เด็กผู้ที่กำลังใช้อุปกรณ์ PeopleLens อยู่ได้ “เห็น” ผู้พูดอยู่ด้วย เสมือนเป็นการมองตาคุยกันอย่างปกติ
สำหรับเด็กผู้พิการทางสายตาแล้ว PeopleLens จึงเป็นวิธีหาเพื่อนของพวกเขานั่นเอง ส่วนสำหรับครูและผู้ปกครองแล้ว PeopleLens ถือว่าเป็นวิธีการพัฒนาให้เด็กมีความสามารถและความมั่นใจในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะต้องอาศัยการรับรู้เชิงพื้นที่ ซึ่งเด็กก็เรียนรู้ได้ผ่านเกมที่เล่นกับเพื่อน ๆ ถ้าเด็กมองหน้าหนีก็แปลได้ว่าเขาเลิกสนใจสิ่งที่คุณกำลังพูดอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ดี อุปกรณ์นี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เด็กผู้พิการทางสายตาสวมใส่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน แต่เป็นเครื่องมือช่วยเสริมการรับรู้สภาพแวดล้อมและการตอบสนองทางสังคม ซึ่งจะช่วยให้เด็กพัฒนาอวัจนภาษาได้อีกรูปแบบหนึ่ง
PeopleLens ยังเป็นตัวต้นแบบอยู่ในขั้นของการพัฒนาอยู่ โดยทีมผู้พัฒนาจาก The University of Bristol กำลังรับสมัครเด็กผู้พิการทางสายตาช่วงอายุ 5 – 11 ปี ในสหราชอาณาจักรอยู่ คงใช้เวลาอีกสักระยะกว่าอุปกรณ์นี้จะออกสู่ท้องตลาดพร้อมใช้งานจริง