เมื่อเร็ว ๆ นี้ Google ได้แบนอัลกอริธึม deepfake จาก Google Colaboratory ซึ่งเป็นบริการคอมพิวติ้งฟรีพร้อมการเข้าถึง GPU ซึ่ง Google ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ควบคุม deepfake รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายควบคุม ประเทศจีนได้ร่างกฎหมายกำหนดให้มีการระบุสื่อที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ และกฎระเบียบ AI ของสหภาพยุโรปหรือ EU ในอนาคตอาจรวมเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเฉพาะนี้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ได้อธิบายว่า deepfake คืออะไร และเหตุใดจึงเกิดการโต้เถียงกันรอบด้าน พร้อมแนะนำวิธีที่ผู้ใช้สามารถป้องกันตนเองได้ ดังนี้
ดีฟเฟค ‘Deepfake’ โดยทั่วไปหมายถึงสื่อสังเคราะห์ประเภทต่างๆ ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนและสร้างขึ้นด้วยโครงข่ายประสาทเทียมระดับลึก deepfake อาจเป็นวิดีโอ ภาพถ่าย หรือการบันทึกเสียง การใช้การเรียนรู้เชิงลึกแทนเทคนิคการตัดต่อภาพแบบดั้งเดิมได้ช่วยลดความพยายามและทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการสร้างภาพปลอมที่น่าเชื่อถือได้
ในช่วงแรก คำว่า deepfake นี้หมายถึงซอฟต์แวร์ชิ้นหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมใน Reddit ซอฟต์แวร์นี้สามารถฝังใบหน้าของบุคคลลงในวิดีโอที่มีบุคคลอื่น และเกือบทั้งหมดถูกใช้เพื่อสร้างภาพอนาจารที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเหล่าคนดัง มีการคาดการณ์ว่า deepfake จำนวนมากถึง 96% เป็นภาพลามกอนาจาร จึงยิ่งเน้นย้ำถึงข้อกังวลว่า deepfake จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด การขู่กรรโชก และสร้างความอับอายในที่สาธารณะ
เทคโนโลยี deepfake นี้เอื้อประโยชน์แก่อาชญากรไซเบอร์ได้เช่นกัน อย่างน้อยในกรณีที่เกิดขึ้นที่อังกฤษและฮ่องกง มีการใช้เสียง deepfake เพื่อหลอกบริษัทต่างๆ ให้โอนเงินไปยังผู้ฉ้อโกง โดยปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง จากการวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัลกอริธึมการตรวจจับความมีชีวิตเชิงพาณิชย์ (commercial liveness) ที่ใช้โดยสถาบันการเงินในขั้นตอน KYC อาจถูกหลอกลวงโดย deepfake ที่สร้างขึ้นจากภาพถ่าย ID สร้างเวกเตอร์การโจมตีใหม่และทำให้ ID ที่รั่วไหลกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น
อีกปัญหาหนึ่งคือ deepfake นั้นได้ทำลายความไว้วางใจในเนื้อหาเสียงและวิดีโอ เนื่องจากสามารถนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ชั่วร้ายได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีล่าสุด การสัมภาษณ์ปลอมๆ ของ Elon Musk ถูกใช้เพื่อส่งเสริมการหลอกลวงสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญและสถาบันต่างๆ เช่น Europol ได้เตือนว่าการมีอยู่ที่เพิ่มขึ้นของ deepfake สามารถนำไปสู่การแพร่ขยายข้อมูลที่บิดเบือนบนอินเทอร์เน็ต
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายเสียทั้งหมด การปรับแต่งรูปภาพนั้นมีมานานพอๆ กับตัวรูปภาพ และ CGI มีมานานหลายทศวรรษแล้ว และทั้งคู่ก็พบว่ามีการใช้งานที่เหมาะสม เช่นเดียวกับ deepfake ตัวอย่างเช่น ในวิดีโอล่าสุดของ Kendrick Lamar Heart Part 5 เทคโนโลยี deepfake ถูกนำมาใช้เพื่อแปลงโฉมหน้าของแร็ปเปอร์ให้กลายเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงอื่นๆ เช่น Kanye West และในภาพยนตร์เรื่อง Top Gun: Maverick มีการใช้อัลกอริทึมเพื่อเป็นเสียงตัวละคร Val Kilmer ที่สูญเสียเสียงของตัวเองไป อัลกอริธึม deepfake ยังใช้เพื่อสร้างซีรี่ส์ใน TikTok นำแสดงโดย Tom Cruise ตัวปลอม และมีสตาร์ตอัปสองสามรายที่กำลังมองหาวิธีใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น เพื่อสร้างอวาตาร์ในเมตาเวิร์ส (metaverse avatars) ที่เหมือนจริง
ด้วยประเด็นความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับ deepfake ผู้ใช้จึงสงสัยว่าจะสามารถตรวจจับ deepfake ได้อย่างไร แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับบางประการในการเริ่มต้น ดังต่อไปนี้
- Deepfake ที่ดูน่าเชื่อถืออย่างเช่นกรณีของ Tom Cruise จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความพยายามอย่างมาก และบางครั้งแม้แต่นักเลียนแบบมืออาชีพก็แยกไม่ออก ทั้งนี้ deepfake ที่ใช้สำหรับการหลอกลวงมักมีคุณภาพต่ำและสามารถเห็นได้โดยการสังเกตการเคลื่อนไหวของริมฝีปากที่ผิดธรรมชาติ ผมที่แสดงผลได้ไม่ดี รูปร่างใบหน้าที่ไม่ตรงกัน กะพริบตาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย สีผิวไม่ตรงกัน และอื่นๆ นอกจากนี้ข้อผิดพลาดในการแสดงเสื้อผ้าหรือมือที่เคลื่อนผ่านใบหน้าสามารถให้จับสังเกต deepfake มือสมัครเล่นได้
- หากพบเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลสาธารณะออกมาพูดอย่างไม่เหมาะสมหรือยื่นข้อเสนอที่ดีเกินจริง แม้ว่าวิดีโอนั้นจะน่าเชื่อถือ แนะนำให้ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ และตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ผู้ฉ้อโกงสามารถเข้ารหัสวิดีโอเพื่อซ่อนข้อบกพร่องของ deepfake ได้ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดไม่ใช่การดูวิดีโอเพื่อค้นหาเบาะแส แต่ใช้สามัญสำนึกและทักษะในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมด้วย
- โซลูชันการรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สามารถช่วยได้ กรณีที่ผู้ใช้ถูก deepfake คุณภาพสูงโน้มน้าวให้ดาวน์โหลดไฟล์หรือโปรแกรมที่เป็นอันตราย หรือเยี่ยมชมลิงก์ที่น่าสงสัยหรือเว็บไซต์ฟิชชิ่ง
- หากคุณตกเป็นเหยื่อของ deepfake porn สามารถติดต่อเว็บไซต์นั้นเพื่อขอให้ลบวิดีโอ (เว็บไซต์หลายแห่งห้ามไม่ให้โพสต์ deepfake) และติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการสร้าง deepfake เป็นความผิดทางอาญา
นายวลาดิสลาฟ ทุชคานอฟ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ข้อมูล แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “Deepfake เป็นตัวอย่างสำคัญของเทคโนโลยีที่พัฒนาได้เร็วกว่าที่ผู้ใช้จะเข้าใจและสามารถจัดการความยุ่งยากได้ ด้วยเหตุนี้ deepfake จึงถูกมองว่าเป็นชุดเครื่องมือที่ใช้บิดเบือนข้อมูล เป็นความท้าทายสิ่งที่สังคมคิดว่าสามารถไว้วางใจได้”