หลาย ๆ คนคงรู้สึกสงบที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพียงแค่เดินเล่นในสวนสาธารณะก็ช่วยให้รู้สึกสดชื่นได้ไม่น้อย แต่การหาพื้นที่สีเขียวในเมืองก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยผังเมืองและการขาดแคลนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวเมือง จุดนี้เองที่ทำให้นักวิจัยลองหันมาประยุกต์ใช้ VR ในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของคนเมือง
ทีมนักวิจัยจาก Université de Lille ประเทศฝรั่งเศส ได้เผยผลการวิจัยในวารสาร Frontiers ที่ศึกษาการใช้ VR ให้ผู้สวมอุปกรณ์เห็นต้นไม้ในแวดล้อมเมือง โดยการสร้างภาพจำลองพื้นที่สีเขียวท่ามกลางเมือง พร้อมกับศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจิตของผู้ร่วมวิจัยที่ได้มองเห็นสภาพแวดล้อมดังกล่าวผ่านอุปกรณ์สวมศีรษะ VR ว่ามันช่วยเสริมสภาพจิตใจให้ดีขึ้นหรือไม่
ทีมวิจัยได้จำลองภาพเมืองที่มีสะพานและทางเดิน กับอีกภาพที่เพิ่มต้นไม้ตามมุมต่าง ๆ แล้วให้ผู้สวมอุปกรณ์สวมศีรษะ HTC Vive ทั้ง 36 คน ค่อย ๆ เดินสำรวจในสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในเมืองที่มีต้นไม้และไม่มีต้นไม้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ VR สอดคล้องกับการวิจัยในสภาพแวดล้อมจริง นั่นคือ ผู้เข้าร่วมวิจัยเดินย่างก้าวช้ากว่าและมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าเมื่อเห็นภาพต้นไม้ผ่านอุปกรณ์ VR ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวช่วยสร้างประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจมากกว่า และสีสันก็เป็นเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยกระตุ้นความตื่นตัวลดระดับความเครียด และเพิ่มความรู้สึกพึงใจท่ามกลางสภาพแวดล้อมเมืองได้ด้วย
การใช้อุปกรณ์ VR เพื่อจำลองความจริงเสมือนก็ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้สร้างเสริมประสบการณ์ใหม่แก่ผู้สวมใส่ และไม่ควรจำกัด VR แค่นี้เท่านั้น นักวิจัยได้ให้ความเห็นว่า VR สามารถนำไปใช้ศึกษาในด้านจิตวิทยาแขนงอื่นได้เช่นกัน รวมไปถึงการใช้ VR เพื่อคาดการณ์และศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ สร้างแนวทางดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง