ในยุคที่เราสื่อสารผ่านแชตกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะส่งข้อความหาใคร หลาย ๆ คนก็คงใช้ Emoji เป็นอีกวิธีในการแสดงอารมณ์ในการสนทนา เพราะการพิมพ์ข้อความอย่างเดียวอาจสื่ออารมณ์ไม่เท่าการส่งไอคอนแสดงอารมณ์ร่วมด้วย
ล่าสุด Adobe ได้ออกรายงาน Future of Creativity: 2022 U.S. Emoji Trend Report จากผลสำรวจผู้ใช้ Emoji ในอเมริกา 5,000 คน ซึ่งศึกษาเวลา เหตุผลและวิธีการใช้ Emoji ของคนอเมริกันเพื่อแสดงตัวตน สะท้อนความหลากหลายในสังคม และค่านิยมในสังคมยุคนี้ ทั้งเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียม การสื่อสารในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งการใช้อีโมจิในเรื่องความรักด้วย
ทีมงาน ADPT จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ให้ทุกท่านได้อ่านกันในบทความนี้ค่ะ
“Emoji เป็นเครื่องมือให้คนได้แสดงความเป็นตัวเองและแสดงอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นบนโซเชียลมีเดียหรือแอปส่งข้อความต่าง ๆ Emoji เปิดวิธีที่เปิดให้คนได้สื่อสารออกมามากกว่าแค่ข้อความบนหน้าจอ และเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม”
Kamile Demir, Computer Scientist จาก Adobe
Emoji ส่งเสริมการแสดงออก คุยสนุกมีสีสัน ดีต่อใจ
เวลาเราได้รับข้อความเปล่า ๆ ที่ไม่มีตัว Emoji บางครั้งเราก็อาจจะรู้สึกกังวลและรู้สึกว่าข้อความนั้นฟังดูแห้ง ๆ ไร้อารมณ์ บอกเลยว่าคุณไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นคนเดียว เพราะจากผลสำรวจพบว่า ผู้ใช้ Emoji 91% เห็นตรงกันว่า Emoji ช่วยให้ตัวเองแสดงออกและสื่อสารได้ง่าย อีกทั้งยังปรับอารมณ์น้ำเสียงของการสนทนาให้ดูสบาย ๆ มากขึ้น
ถ้าพูดถึง Emoji ยอดนิยมแล้ว ต้องยกให้รูปพวกนี้เลย: 😂, 👍, ❤️, 🤣, 😢 แถมความเห็นจากผู้สำรวจมากกว่า 60% ยังบอกอีกว่า Emoji พวกนี้ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของคู่สนทนาซึ่งกันและกันด้วย นอกจากนี้ ผู้ใช้ Emoji 73% มองว่า คนที่ใช้ Emoji เป็นคนที่เป็นมิตร ตลก และน่าคบกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ ซึ่ง 69% ของกลุ่ม Gen Z และ Millennial ก็รู้สึกสะดวกใจที่จะแสดงอารมณ์ผ่าน Emoji มากกว่าแค่ส่งข้อความเปล่า ๆ อย่างเดียวเท่านั้น
Emoji ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มักโหยหาความเข้าอกเข้าใจ ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม พอเราใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น ยิ่งต้องการแสดงออกเช่นเดียวกับเวลาเจอกับผู้อื่นตรงหน้า แล้วจะทำอย่างไรถึงจะถ่ายทอดน้ำเสียง สีหน้า ภาษากายได้? Emoji จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างจุดนี้ ทดแทนในสิ่งที่ข้อความธรรมดาทำไม่ได้
ผลสำรวจพบว่า 88% ของผู้ใช้ Emoji ในอเมริกามีแนวโน้มเข้าอกเข้าใจคู่สนทนามากขึ้นถ้าใช้ Emoji ซึ่งก็ช่วยทลายกำแพงข้อจำกัดด้านภาษา และขับเคลื่อนให้สังคมมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ผู้ใช้ Emoji ถึง 75% ยังรู้สึกว่า Emoji เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ความเคารพ และความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย
Emoji ที่แสดงอัตลักษณ์และเปิดรับทุกความหลากหลายเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้ใช้
ความเท่าเทียม การยอมรับความหลากหลาย ความครอบคลุมทางสังคม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่กระแสอีกต่อไป แต่ควรเป็นค่านิยมสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน เมื่อ Emoji กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราแล้ว การสะท้อนชีวิตของผู้คนในทุกแง่มุมอย่างครอบคลุมจึงสำคัญกว่าที่เคย โดยผลสำรวจชี้ว่า ผู้ใช้ Emoji 2 ใน 5 รู้สึกว่า Emoji ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนตัวตนของพวกเขา ส่วนประเด็นเรื่องอายุ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และความพิการก็เป็นหมวด Emoji 4 อันดับต้นที่ผู้ใช้ในอเมริกาอยากให้มีการขยายการใช้งานเพิ่มเติม
เมื่อ Emoji ยังมีอิทธิพลกับโลกรอบตัวเรานี้ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามก็เห็นตรงกันว่า Emoji ที่ครอบคลุมคนทุกประเภทจะช่วยจุดประกายการสนทนาเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นทางวัฒนธรรมและสังคมเหล่านี้ ในขณะที่ 75% เห็นว่า Emoji ลักษณะนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงกลุ่มความหลากหลาย แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงมี Emoji ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ 83% ของกลุ่มสำรวจก็เห็นด้วยว่า ควรมี Emoji ที่แสดงอัตลักษณ์ของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น
ความหมายของ Emoji เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และอาจไม่ได้หมายความอย่างที่คิด
แม้ว่า Emoji จะช่วยให้สื่อสารได้ง่าย แต่หลาย ๆ ครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ใช้ Emoji ในอเมริกา 50% ใช้ Emoji สื่อความหมายต่างไปจากที่ต้องการสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ใช้ Emoji ต่างไปจากความหมายเดิมเป็นคน Gen Z (74%) รองลงมาคือ Millenial (65%), Gen X (48%) และ Boomer (24%) อย่างไรก็ดี 80% ของชาวอเมริกาที่ใช้ Emoji ก็ยังตามทันความหมายใหม่ ๆ ของ Emoji โดยเฉพาะคน Gen Z (93%)
Emoji 3 อันดับแรกที่สร้างความเข้าใจผิดในอเมริกา คือ 🤠, 🍒, 🙃 ประเด็นที่น่าสนใจคือ Emoji รูปคาวบอยถูกใช้เป็นมีมกันไปทั่ว เพราะได้รับความนิยมมาจากนักดนตรีอย่าง Kacey Musgraves และ Lil Nas X ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Emoji ก็คือ Emoji ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกันกับภาษาและวัฒนธรรมนั่นเอง
Emoji คือสื่อแทนรัก หรือทำลายรักก็ได้
หากมองในเรื่องของความรักความสัมพันธ์แล้ว หลาย ๆ คู่รักก็คงจีบอีกฝ่ายด้วยการส่ง Emoji หากัน หรือบางคู่ถึงขั้นต้องยุติความสัมพันธ์ตั้งแต่แรกคบกันก็เพราะใช้ Emoji เชิงลบก็เป็นได้
ผลสำรวจพบว่า Emoji 3 อันดับแรกที่ทำให้คุณน่าดึงดูด น่าคบหายิ่งขึ้นคือ 😘, 🥰, และ 😍 โดยผลสำรวจชี้ว่า 72% มักใช้ Emoji คุยกับคนที่กำลังจีบหรือเดทกันอยู่ นอกจากนี้ 58% ของคน Gen Z และ 54% ของคนรุ่น Millenial มองหาเดทครั้งใหม่กับคนที่ใช้ Emoji ในการสื่อสาร
ส่วน Emoji ที่ทำในสิ่งตรงข้าม นั่นคือ 💩, 😠, 🍆 ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมพอเจอ Emoji แบบนี้แล้วมีแต่คนถอยห่างออกจากความสัมพันธ์ โดยจากผลสำรวจก็พบว่า 1 ใน 3 ของคน Gen Z เคยบอกเลิกและถูกบอกเลิกผ่าน Emoji ด้วย
ใช้ Emoji ในที่ทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ เสริมความคิดสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ถ้า Emoji ช่วยให้การสื่อสารในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น การนำ Emoji มาใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในที่ทำงานก็ให้ความรู้สึกเดียวกันด้วยเช่นกัน ยังมีหลาย ๆ คนที่ยังทำงานที่บ้าน และไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อนร่วมงานตัวเป็น ๆ จึงมีการใช้งาน Emoji ในที่ทำงานถึง 71% และมีผู้เข้าร่วมสำรวจถึง 53% ที่ใช้ Emoji ในที่ทำงานเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ผลสำรวจเผยว่า 68% ชอบเวลาที่คนใช้ Emoji ในที่ทำงาน เพราะส่งผลต่อความรู้สึกดี (69%) และความน่าเชื่อถือ (59%) นอกจากนี้ ผู้ใช้ Emoji 63% ยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและบริษัทมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเพื่อนร่วมงานใช้ Emoji สื่อสารตอบกลับมาด้วย อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์กับพนักงานใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย
การใช้ Emoji ในที่ทำงานยังช่วยให้ทีมแชร์ไอเดียกันได้รวดเร็ว (79%) ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (62%) ลดความจำเป็นในการประชุมหรือโทรศัพท์ (47%) และช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี (58%) ซึ่งส่วนหนึ่งก็เห็นได้จากการที่ทีมใช้ Emoji อย่างสร้างสรรค์เวลาใช้สื่อสารในที่ทำงานนั่นเอง (77%)
ทั้งนี้ อาจมีความเห็นอีกฝั่งหนึ่งที่รู้สึกว่า ผู้ใช้ Emoji ในที่ทำงานถูกมองว่าไม่เป็นมืออาชีพ แต่ดูเหมือนว่าในรายงานฉบับนี้ ประเด็นดังกล่าวไม่ตรงกับผลลัพธ์จากที่สำรวจมาเท่าใดนัก หากย้อนกลับมาพิจารณาบริบทของไทย ผลสำรวจที่ได้จากการสอบถามพนักงานบริษัทในไทยอาจชี้นำไปในอีกทิศทางหนึ่งก็เป็นได้
Emoji กับอนาคตที่น่าจับตามอง
Emoji ไม่ได้จำกัดการใช้งานสื่อสารแค่ระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน แต่ยังขยายการใช้งานในอีกหลากหลายรูปแบบ และอาจจะมากกว่าที่ใช้งานอยู่กันในตอนนี้ด้วย
จากผลสำรวจพบว่า ผู้ใช้ Emoji เกินครึ่ง (57%) ยินดีซื้อสินค้าที่ใช้ Emoji เป็นสัญลักษณ์ โดยส่วนใหญ่ที่โอบรับสินค้าดังกล่าวเป็นกลุ่ม Gen Z (71%) และกลุ่ม Millenial (67%) และสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกคือ อาหารซื้อกลับบ้าน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และบริการสตรีมมิง
ผู้ใช้ Emoji ในอเมริกาส่วนใหญ่ยังเปิดรับการใช้งาน Emoji ในเชิงสร้างสรรค์ ทั้งการยืนยันเข้าร่วมงาน (68%) ไปจนถึงการชำระเงิน (45%) หรือแม้แต่การสร้าง Username แบบมี Emoji พ่วงด้วยแทนที่จะใช้เพียงตัวอักษร ตัวเลขหรือสัญลักษณ์แบบเดิม ๆ การเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่มีตัว Emoji ประกอบแทนที่ URL แบบดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งการปรึกษากับแพทย์ด้วย Emoji เพื่ออธิบายอาการด้วย