คนวัยทำงานยุคสมัยนี้มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น อันเนื่องจากความเครียดรอบด้านจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันในสังคม โรคระบาด และอีกหลายปัจจัย เมื่อปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต่างก็หลีกหนีไม่พ้น พนักงานและองค์กรธุรกิจจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นกับพนักงานในบริษัทของตน
ทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news ขอพาทุกท่านไปร่วมเรียนรู้ถึงโรคซึมเศร้ากับคนทำงาน พร้อมแนวทางสำหรับองค์กรในการรับมือ ป้องกันและรักษาพนักงานผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กับ พญ. ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
โรคซึมเศร้าคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร จะสังเกตตัวเองได้อย่างไรว่าตนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะ Burnout หากบริษัทพบว่ามีพนักงานป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรปฏิบัติต่อพนักงานหรือมีแนวทางรักษาให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติดังเดิมได้อย่างไร ร่วมค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ในบทความนี้
โรคซึมเศร้าคืออะไร?
พญ. ศุทรา ให้คำนิยาม โรคซึมเศร้า (Depressive disorder) ว่า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีอาการทางการแพทย์ ซึ่งไม่ได้มีผลในแง่อารมณ์ที่ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าซึมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจด้วย โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะแสดงอาการต่าง ๆ ทั้งทางด้านอารมณ์ ความคิด สุขภาพร่างกาย และพฤติกรรม
- ด้านอารมณ์: ผู้ป่วยจะแสดงอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ ออกมา เช่น รู้สึกเศร้า รู้สึกผิด รู้สึกเป็นภาระ รู้สึกคับข้องใจ โกรธเคือง เป็นต้น
- ด้านความคิด: ผู้ป่วยจะรู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีทางออกและขาดที่พึ่ง
- ด้านสุขภาพ: ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่อยากอาหารหรือทานมากเกินไป นอนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
- ด้านพฤติกรรม: ผู้ป่วยจะหลีกหนีสถานการณ์ทางสังคม ไม่อยากสังสรรค์พบปะกับเพื่อนฝูงและผู้อื่น รู้สึกเฉื่อยชา กระสับกระส่าย ไม่กระตือรือร้นเช่นปกติ
หากผู้ป่วยมีอาการหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคซึมเศร้า จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เพื่อให้ การใช้ชีวิตและการทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่นกลับมาเป็นปกติ
ซึมเศร้าหรือแค่ Burnout?
คนทำงานหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยผ่านหูผ่านตากับคำว่า Burnout กันมาก่อน แล้วเกิดความสงสัยว่า Burnout มีความเหมือนหรือต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ท้ายที่สุดแล้วตนเป็นโรคซึมเศร้าหรือแค่ Burnout เฉย ๆ
พญ. ศุทรา เผยว่า เส้นแบ่งที่แยกชัดระหว่างโรคซึมเศร้ากับ Burnout คือเรื่องงาน ในกรณีของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น จะมีสัญญาณบ่งชี้อาการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่เรื่องงาน แต่กระทบไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัวด้วย
ในขณะที่คนทำงานที่รู้สึก Burnout หรือมีภาวะหมดไฟ มีสาเหตุมาจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงานเป็นหลัก จนรู้สึกอึดอัดใจ ไม่มีความสุขกับการทำงาน มีความคิดเชิงลบต่องานที่ทำอยู่ รู้สึกไม่ชอบงานและรู้สึกแย่กับการทำงาน จนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ตกต่ำลงจากเดิม แต่เมื่อไม่ได้ทำงาน คน ๆ นั้นก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ และไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
โรคซึมเศร้ากับคนวัยทำงาน: ปัจจัยเสี่ยงของอาการซึมเศร้า
เมื่อพูดถึงแนวโน้มของโรคซึมเศร้าในวัยทำงาน พญ.ศุทรา กล่าวว่า ในช่วง COVID-19 สองปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เกิดเพิ่มมากขึ้นในทุกวัย โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า โรคซึมเศร้ามีภาระโรค (Burden of Disease) จัดเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ จากที่เมื่อก่อนคือโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดสมอง
หากกล่าวโดยสรุปถึงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าของคนส่วนใหญ่ ก็ล้วนมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ปัจจัยจากการทำงานและชีวิตส่วนตัว
พญ.ศุทรา ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้คนในยุคนี้ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นนั้นเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน วิกฤติต่าง ๆ ที่กระทบต่ออารมณ์จิตใจ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเครียดที่เพิ่มเข้ามาจากการทำงานปกติ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่แต่ละคนประสบไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ตนเองต้องปรับตัว (เช่น ย้ายที่เรียน ย้ายที่ทำงาน ย้ายถิ่น) ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ตกงาน มีหนี้สิน หาเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย - ปัจจัยทางชีวภาพ
ลักษณะนิสัยเฉพาะบุคคลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากคน ๆ นั้นมีความคิดเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน เครียดง่าย มีความต้านทานความเครียดต่ำ ก็ยิ่งซ้ำเติมอาการซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากอุปนิสัยส่วนตัวแล้ว เพศสภาพยังกลายเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่เพิ่มความเสี่ยงด้วย โดยเพศหญิงมักมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า เนื่องด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับ สถานะถูกกดทับในสังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่างกายในช่วงใกล้มีประจำเดือนหรือช่วงหลังคลอดบุตร ส่งผลให้ภาวะอารมณ์ไม่มั่นคงผิดปกติจนกระทบต่อการใช้ชีวิต
รู้ทันอารมณ์ สังเกตตัวเองและผู้อื่น
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ยิ่งต้องระวังตัวเอง คำถามต่อมาคือ เราจะมีวิธีสังเกตอาการของตัวเองอย่างไรถึงจะรู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ก่อนจะรู้ตัวเองว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น พญ. ศุทรา แนะนำว่า ให้ลองอยู่กับภาวะนั้นและเรียนรู้กับอาการไปสักระยะ และเปรียบเทียบกับสภาวะปกติของตน ซึ่งมีทั้งความเปลี่ยนแปลงชัดเจนเพราะมีปัจจัยกระตุ้น โดยเรียกกรณีนี้ว่า โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง กับอีกรูปแบบคือ ลักษณะที่อาการน้อย ๆ หรือดูไม่ค่อยออก อาจสัมพันธ์กับความรู้สึกอาลัยอาวรณ์จากการสูญเสีย เช่น สูญเสียคนรักจากการเสียชีวิต จนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ
วิธีการสังเกตอาการด้วยตัวเองคือ การสังเกตภาวะอารมณ์และพฤติกรรม
- หากเดิมเป็นคนที่มีอารมณ์เฮฮา คิดบวก จัดการความเครียดได้ดี แต่ต่อมากลับมีความรู้สึกเครียด มีความคิดลบกับตัวเอง จนกระทบต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการนอนหลับ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้จะสังเกตตัวเองอย่างเห็นได้ชัดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น
- ในกรณีที่ตนเป็นคนมีนิสัยเก็บตัว พูดน้อย อาจแสดงอาการได้ไม่ชัดเจน จึงต้องอาศัยความเข้าใจตัวเองเป็นอย่างดี รู้จักประเมินความสุขของตัวเองและให้น้ำหนักกับการเข้าใจรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตพฤติกรรมอย่างอื่นได้ เช่น การไม่เข้าสังคมเช่นเมื่อก่อน หรือประสิทธิภาพการทำงานที่ถดถอยลงไป เกิดความผิดพลาดในการทำงานมากขึ้น เป็นต้น
พญ. ศุทรา เสริมว่า ความสามารถในการรู้จักสังเกตตนเองแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนรู้จักตัวเองก็สามารถเข้าใจและรู้เท่าทันอารมณ์และอาการของตัวเองได้เร็ว ในขณะที่บางคนต้องมีคนอื่นเป็นผู้แนะนำ ทั้งนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถฝึกทักษะการสังเกตตัวเองได้ หรือแม้แต่สังเกตเพื่อนร่วมงานหรือพนักงานในบริษัทก็ได้ด้วยการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน
บทบาทขององค์กรกับพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้า
เมื่อบริษัทเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของคนทำงาน องค์กรย่อมต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความเป็นอยู่และสภาวะทางจิตใจของพนักงาน โดย พญ. ศุทรา ให้ความเห็นว่า บริษัทสามารถสนับสนุนพนักงานได้ทั้งในเชิงป้องกันเพื่อมิให้พนักงานเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และในเชิงรักษาพนักงานที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- เชิงป้องกัน
เพื่อป้องกันมิให้บริษัทต้องการแบกรับดูแลประคับประคองผู้ป่วยในภายหลัง พญ. ศุทรา แนะนำว่า บริษัทต้องสร้างสุขภาวะ (Wellbeing) ที่ดีให้กับพนักงาน ประกอบด้วย
- สุขภาวะทางร่างกาย: การเปิดโอกาสให้พนักงานได้เคลื่อนไหวระหว่างทำงาน ไม่นั่งติดต่อกันนานเกินไป การเลือกสรรอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพในโรงอาหาร หลีกเลี่ยงการทานอาหารอย่างรีบเร่งหรืออาหารสะดวกซื้อ การจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ
- สุขภาวะทางจิตใจ: การสร้างบรรยากาศและเสริมสุขภาวะทางอารมณ์ในที่ทำงานด้วยการพูดคุยถึงเรื่องอารมณ์ได้อย่างเป็นปกติ ถามไถ่ใส่ใจความรู้สึกของพนักงาน และแนะนำเมื่อพนักงานรู้สึกเครียด เพราะความเครียดส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย (เช่น เมื่อพนักงานรู้สึกเครียด อาจกินเยอะจนเสียสุขภาพ)
- สุขภาวะทางสังคม: สร้างความสัมพันธ์อันดีภายในองค์กรระหว่างเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ให้พนักงานสามารถปรึกษาขอความช่วยเหลือได้ สนับสนุนสังคมเกื้อหนุน ไม่เอาผลงานเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียว ลดการกลั่นแกล้งแข่งขัน เพราะสังคมที่ทำงานที่มีการแข่งขันสูงส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของคนทำงาน ทำให้ต้องรู้สึกดิ้นรนจนกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
นอกจากการสร้างสุขภาวะทั้งสามด้านแล้ว บริษัทอาจต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยมุ่งเน้นไปที่การใส่ใจความสุขและความรู้สึกของพนักงาน มากกว่าแค่การเพิ่มสวัสดิการให้พนักงาน ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่พนักงานทุกระดับรวมถึงหัวหน้างานต่างก็เข้ามามีบทบาทในการรับรู้อารมณ์และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
การออกแบบที่ทำงานให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานยังช่วยส่งเสริมสุขภาวะให้แก่ทั้งพนักงานทั่วไปและพนักงานที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย แม้หลาย ๆ บริษัทส่วนใหญ่หันมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการทำงานออนไลน์หรือแบบไฮบริด แต่หากแบ่งขอบเขตชัดเจนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ทั้งนี้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยพนักงานรู้จักแบ่งเวลา ด้านบริษัทเองต้องเคารพและไว้วางใจพนักงานในการทำงานด้วย
- เชิงรักษา
ปัจจุบันนี้ ด้วยสวัสดิการและสิทธิประกันสังคมที่ให้ความคุ้มครองในการรักษาโรคซึมเศร้า พนักงานสามารถปรึกษาแพทย์และรับสิทธิการดูแลรักษาได้ฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากสถานรักษาบางแห่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญ หากพนักงานผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ บริษัทอาจต้องจัดหาทางเลือกการรักษาให้กับพนักงาน เช่น กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย การบำบัดด้วยกลิ่นที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า ให้พนักงานได้เลือกพิจารณา
ทั้งนี้ พญ. ศุทรา มองว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรมีทักษะทางจิตวิทยาในการสังเกตพฤติกรรมของพนักงานในบริษัท เช่น การสังเกตปฏิสัมพันธ์ของพนักงานระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการทำกิจกรรม Outing อื่น ๆ หากฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีทักษะในการให้คำปรึกษา เก็บความลับของพนักงานได้ ก็ถือว่าสามารถทำหน้าที่แทนศูนย์บำบัดได้เป็นอย่างดี
การให้ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าแก่พนักงานในองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้พนักงานรู้จักโรคซึมเศร้า ภาวะอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง เมื่อเกิดความเข้าใจก็นำไปสู่การดูแลรักษาในลำดับต่อไป
พญ. ศุทรา เสริมว่า การรักษาภาวะซึมเศร้าไม่ได้มีสูตรสำเร็จ ผู้ป่วยแต่ละคนมีองค์ประกอบในการช่วยเหลือแตกต่างกันออกไป สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองแบบไม่ต้องใช้ยา และการรักษาแบบพึ่งแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม รวมถึงการให้ยาต้านเศร้าเพื่อรักษาอาการในระยะยาว
บทส่งท้าย
พญ. ศุทรา ให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจหรือฝ่ายบุคคลในธุรกิจองค์กรต่อประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้าท่ามกลางสภาวะการทำงานที่เคร่งเครียดไว้ว่า บริษัทในฐานะที่เป็นสถานที่ที่สำคัญต่อคนทำงานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โจทย์สำคัญของบริษัทคือการทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่มีความสุข ใส่ใจพนักงานเป็นตัวบุคคลแบบองค์รวม โดยไม่ได้มุ่งเฉพาะความสำเร็จของงาน ยอดขายหรือผลงานที่เป็นตัวชี้วัดเท่านั้น แต่ให้มองว่าพนักงานเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญขององค์กร
บริษัทจึงควรสังเกตสัญญาณต่าง ๆ ของพนักงาน ทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียล และพยายามหาโอกาสและวิธีพูดคุยหาทางออกร่วมกับพนักงาน รวมถึงให้ความช่วยเหลือเมื่อพนักงานต้องการการดูแลรักษาเพิ่มเติม เพราะโรคซึมเศร้านั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ พนักงานก็จะสามารถกลับมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร ทำงานและสร้างประโยชน์ต่อหน่วยงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
ทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news ขอขอบพระคุณความอนุเคราะห์ของ พญ.ศุทรา เป็นอย่างสูงที่ได้แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านคนวัยทำงาน และทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านทุกท่านรวมถึงองค์กรบริษัทจะหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเองเพื่อสุขภาวะที่ดีและสร้างสมดุลในการดำรงชีวิตต่อไปค่ะ