ในการวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะหลังๆ คำที่จะได้เห็นกันผ่านตาบ่อยและกำลังมาแรงคือคำว่า Sustainability หรือความยั่งยืน ธุรกิจจำนวนมากชูสิ่งนี้เป็นเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินการในอนาคตอันใกล้ ในบทความนี้ขอชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจว่า “Sustainability” คืออะไรกันแน่ ทำไมคำๆนี้จึงมีความหมายที่กว้าง ควบรวมประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในหลายมิติ
Sustainability และ Sustainable Development
Sustainability เป็นคำที่มีที่มาจากรายงาน “Our Common Future” ของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (WCED) ในปี 1987 รายงานฉบับนี้ได้กล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่จะ “ตอบสนองความต้องการของยุคปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลเสียต่อความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังในอนาคต” กล่าวคือการพัฒนาที่หาจุดสมดุลระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างสรรค์สังคม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไป Sustainable Development ได้กลายมาเป็นกลยุทธ์ที่หลายรัฐบรรจุไว้ให้แผนพัฒนารัฐระยะยาว ต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจที่เริ่มตอบสนองต่อเป้าหมายนี้ด้วยการยึดถือ “Sustainability” เป็นเสาหนึ่งในการดำเนินการ ยิ่งเมื่อภาวะโลกร้อนคืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้น สภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำปรากฏมากขึ้น ความสำคัญของ Sustainability ก็ยิ่งเด่นชัด
ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึง Sustainability ในธุรกิจ เรามักจะกล่าวถึงประเด็นใน 3 แกน ได้แก่
- สิ่งแวดล้อม – ดำเนินการอย่างไรให้เป็นมิตรต่อโลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และช่วยสนับสนุนในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
- สังคม – ดำเนินการอย่างไรให้ธุรกิจได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการ พนักงานในองค์กร ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งนอกจากภายในองค์กรแล้วยังรวมไปถึงองค์กรอื่นๆที่อยู่ใน Supply Chain ด้วย
- เศรษฐกิจ – ดำเนินการอย่างไรให้คงไว้ซึ่งผลกำไรและถูกธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ยึดโยงกับเสียงของสาธารณะ และมีจริยธรรมในการบริหารจัดการองค์กร
ทั้ง 3 แกนหลักของ Sustainability นี้อาจถูกเรียกได้อีกแบบหนึ่งว่า ESG (Enviroment, Social, and Governance) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ชูโรงของหลายธุรกิจในไทยและต่างประเทศในปี 2023 ความยั่งยืนเป็น Agenda ของหน่วยงานรัฐและเอกชนทั่วโลก และได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดการตัดสินใจและทิศทางของการดำเนินธุรกิจมากขึ้นจนไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป
ธุรกิจทำอะไรบ้างตามแนวทางของ Sustainbility
หลังจากได้รู้ความหมายของ Sustainability แล้วหลายท่านอาจเกิดข้อสงสัยว่าหากจะดำเนินธุรกิจตามหลัก Sustainability นั้นต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง ในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นอาจใกล้ตัวและยกตัวอย่างได้ง่าย ต่อไปนี้จึงขอยกตัวอย่างของการดำเนินการตามหลัก Sustainbility ทั้ง 3 แกน
สิ่งแวดล้อม
- ลดการปล่อยของเสีย เช่น คาร์บอน และตั้งเป้าหมาย Net-zero ทั้งในการทำงานขององค์กรและบริษัทใน Supply Chain
- ผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น Walmart ที่พยายามลดขยะและลดการใช้บรรจุภัณฑ์สิ้นเปลือง หรือสนามกีฬาและสถานที่จัดงานอีเวนท์ที่มีระบบจัดการขยะและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจตาและเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรมีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด
สังคม
- ปรับปรุงสวัสดิการพนักงานให้เอื้อเฟื้อต่อคุณภาพชีวิตมากขึ้น เช่นการให้สวัสดิการเพิ่มเติมกับครอบครัวของพนักงาน สิทธิการลาคลอด การทำงานแบบเวลายืดหยุ่น และการเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มความรู้และโอกาสในสายงาน
- ใช้กำไรจากการดำเนินการเพื่อพัฒนาบุคลากรในสังคม การบริจาคให้องค์กรต่างๆ การมอบทุนการศึกษา
- ให้โอกาสกับคนขายขอบ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในการเข้าร่วมงานกับองค์กร
- ปรับโครงสร้างพนักงานให้เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย (Inclusivity) ส่งเสริมความเท่าเทียมในมิติต่างๆ ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ และอื่นๆ และการจัดการกับความอยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานอย่างเด็ดขาด
เศรษฐกิจ
- สร้างความโปร่งใสทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ทำให้กระบวนการดำเนินการและ Supply Chain สามารถตรวจสอบได้
- วางนโยบายเกี่ยวกับความประพฤติซึ่งขัดหลักธรรมาภิบาล เช่น เฝ้าระวัง Conflict of Interest ในบอร์ดบริหาร การตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอว่าไม่ผิดจริยธรรม การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
- ตัดสินใจทางธุรกิจด้วยมติที่สอดคล้องกับประโยชน์ของผู้ถือหุ้น สังคม และสิ่งแวดล้อม
- วางแผนลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจส่งผลเสียต่อชุมชน สังคม และลูกค้า
ในแนวคิด Sustainability นั้น มีหลายกรณีที่สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจแยกจากกันไม่ออกเช่นกัน ธุรกิจจึงต้องพิจารณาทั้ง 3 ปัจจัยไปพร้อมๆกันเพื่อสร้างสมดุลที่ดีที่สุด เช่น การทำ Sustainable Finance ซึ่งเป็นการลงทุนโดยใช้ทั้งปัจจัยด้านการเงิน การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างสรรค์สังคมมาพิจารณาลงทุน เพื่อสร้างและสนับสนุนระบบนิเวศน์เศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
Sustainability ธุรกิจไม่รู้จักไม่ได้ในปี 2023
ความคาดหวังของรัฐ สังคม และนักลงทุนในปัจจุบันต่อธุรกิจนั้นไปไกลเกินกว่าการสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว จริงอยู่ที่การทำกำไรได้มากนั้นหมายถึงความสำเร็จของธุรกิจ แต่ในระยะยาวแล้วการลงทุนเพื่อ Sustainability จะกลับมาตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้อย่างยั่งยืนกว่าในอนาคต
การสำรวจโดย NielsenIQ พบว่าในปี 2023 กว่า 46% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าธุรกิจและแบรนด์จะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจากการข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2017-2022 ในการสำรวจโดย NielsenIQ และ McKinsey พบว่าผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ว่ามีการดำเนินการตามหลัก ESG โดยมีการเติบโตของยอดขายโดยเฉลี่ย 28% ในช่วงเวลาดังกล่าว เทียบกับอัตราการเติบโต 20% ของสินค้าที่ไม่ได้ระบุคำเคลมเกี่ยวกับ ESG ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความสนใจของผู้บริโภคทั่วไป และเน้นย้ำถึงบทบาทของ Sustainability ต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
Sustainability ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากธุรกิจไม่เริ่มปรับตัวในวันนี้ก็อาจเกิดเป็นความเสียเปรียบทางการแข่งขันในอนาคต และแน่นอนว่าความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความร่วมมือในการสร้างโลกที่ดีเพื่อคนรุ่นหลังต่อไปด้วย
อ้างอิง