สำหรับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดใดก็ตาม การคาดการณ์และวางแผนรับมือต่ออนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่เสมอ ในโลกที่หมุนไวขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน การจับตามองเทรนด์ที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางดีและทางร้ายนั้นในบางครั้งก็สร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจได้มหาศาล ในบทความนี้ ขอเชิญทุกท่านไปร่วมศึกษาถึงเทรนด์เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ 4 หัวข้อ ที่ Gartner ได้วิเคราะห์ไว้ใน Hype Cycle ประจำปี 2023 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด
รู้จักกับประโยชน์ของ Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies กันก่อน
Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies นั้นเป็นการรวบรวม 25 เทรนด์เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และน่าจับตามอง โดยเทรนด์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หรือเพิ่งได้รับความสนใจและยังไม่แน่ชัดว่าจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำธุรกิจรับทราบถึงเทรนด์เหล่านี้และนำไปวิเคราะห์ ศึกษา และวางแผนธุรกิจต่อนั้นแม้จะมีความเสี่ยง แต่หากเทรนด์ดังกล่าวสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้จริงมากไปกว่าการเป็นเพียงกระแส และกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ ผู้ที่เริ่มต้นก่อนก็ย่อมได้รับประโยชน์ก่อนองค์กรอื่นๆ และก้าวนำไปแล้วหนึ่งขั้นนั่นเอง
Hype Cycle for Emerging Technologies น่าจับตามองในปี 2023 และอนาคตอันใกล้
สำหรับปี 2023 นี้ Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies ถูกแบ่งออกเป็น 4 ธีมหลัก ดังนี้
1. Emergent AI
Emergent AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบใหม่ๆ นั้นมีความสามารถในการเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ สร้างความแตกต่าง และยกระดับประสบการณ์ในการเข้ารับบริการสำหรับลูกค้าและประสิทธิภาพและประสบการณ์ในการทำงานของพนักงานในองค์กร หนึ่งตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีในกลุ่มนี้คือ Generative AI ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมาจากคลังข้อมูลความรู้ที่เจ้าปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้มา และในขณะเดียวกันก็ยังมี AI ประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและน่าจับตามองภายใน 2-5 ปีข้างหน้า เช่น
- AI Simulation – การใช้เทคโนโลยีในการจำลองสถานการณ์ สภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อช่วยในการพัฒนา เทรน ทดสอบ และใช้งาน AI
- Causal AI – AI ที่สามารถระบุเหตุและผลที่เหนือไปกว่าการทำนายด้วยเทคนิค Correlation ซึ่งจะช่วยให้การทำนายและคำแนะนำจาก AI แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และตัดสินใจโดยอัตโนมัติได้ดีกว่าเดิม
- Federated Machine Learning – การเทรนโมเดล Machine Learning โดยไม่ต้องใช้ข้อมูลโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในขั้นตอนการพัฒนาโมเดล
- Graph Data Science (GDS) – การใช้เทคนิคด้านวิทยาการข้อมูลร่วมกับข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบของกราฟเพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพฤติกรรม และนำผลลัพธ์ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นโมเดลทำนายหรือวิเคราะห์ข้อมูล
- Neuro-symbolic AI – AI ที่รวมความสามารถของ Machine Learning และระบบสัญลักษณ์ (หมายถึง ระบบที่ถูกสร้างและประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ เช่น ภาษาทั่วไป ภาษาโปรแกรมมิ่ง ตรรกศาสตร์ ตลอดไปจนถึงการทำงานของสมอง คอมพิวเตอร์ เครือข่าย และระบบสังคมอื่นๆ) ขึ้นมาสร้าง AI ที่ดีและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
- Reinforcement Learning (RL) – AI ที่เรียนรู้การทำงานได้ด้วยตัวเองผ่านกลไก Positive และ Negative Feedback
2. Developer Experience (DevX)
การสร้างประสบการณ์ในการพัฒนาโปรแกรมหรือระบบที่ดีนั้นมีบทบาทเป็นอย่างมากในธุรกิจยุคใหม่ซึ่งต้องการดึงดูดและจูงใจนักพัฒนา (Developer) ให้อยู่ร่วมงานกับองค์กรไปนานๆ องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญกับการทำงานของเครื่องมือ แพลตฟอร์ม ขั้นตอนการพัฒนา และนักพัฒนามากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหลายรายได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Value Stream Management (VSMP) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการพัฒนาตั้งแต่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าไปจนถึงผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลลัพธ์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง บอกถึงสถานะและให้คำแนะนำถึงสิ่งที่ทีมพัฒนาสามารถทำได้เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดย Gartner คาดการณ์ว่าแพลตฟอร์มเช่นนี้จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอีก 2-5 ปีข้างหน้า
นอกจาก VSMP แล้ว เทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีเช่น
- AI-augmented Software Engineering – การนำ AI และเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) เข้ามาช่วยในขั้นตอนการพัฒนา ส่งมอบผลลัพธ์ และดูแลซอฟต์แวร์
- API-centric SaaS – บริการ SaaS ที่ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อผ่าน API เพื่อนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์
- GitOps – ระบบ Continuous Delivery และจัดการการพัฒนาสำหรับแอปพลิเคชันบนคลาวด์
- Internal Developer Portals – บริการที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงทรัพยากรและ Environment ที่ซับซ้อนแต่จำเป็นสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์
- Open-source Program Office (OSPO) – การจัดตั้งศูนย์กลางในการวางกลยุทธ์ จัดการ ส่งเสริม และใช้งาซอฟต์แวร์ ข้อมูล และโมเดลแบบ Open Source
3. Pervasive Cloud
Cloud Computing ได้เข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ธีมที่ 3 ใน Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies ประจำปีนี้ คือเทคโนโลยีคลาวด์ที่ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นกว่าเดิมให้มีความเฉพาะทางและตอบโจทย์จำเพาะเจาะจงเพื่อรองรับธุรกิจในรูปแบบต่างๆ
ตัวอย่างที่โดดเด่นของคลาวด์ในประเภทนี้คือ Industry Cloud Platform ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งบริการแบบ SaaS, PaaS, และ IaaS จะถูกพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการและลักษณะการใช้งานในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างถูกจุด Gartner คาดการณ์ว่า Industry Cloud Platform จะเติบโตจนกระทั่งกลายเป็นทางเลือกหลักของธุรกิจใน 5-10 ปีข้างหน้า
ตัวอย่างอื่นๆ ในกลุ่ม Pervasive Cloud นั้นได้แก่
- Augmented FinOps – การประยุกต์แนวคิด DevOps ซึ่งประกอบไปด้วยความฉับไว (Agility), Continuous Integration & Deployment, และการรับฟีดแบ็คมาพัฒนาระบบมาใช้ในงานบริหารด้านการเงิน การจัดการงบประมาณ และการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
- Cloud Development Environment (CDEs) – เทคโนโลยีที่ช่วยเตรียม Development Environment บนคลาวด์ที่พร้อมใช้งานอย่างง่ายๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วและความสะดวกในการเริ่มต้นพัฒนาซอฟต์แวร์
- Cloud Sustainability – แนวทางการใช้เทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาช่วยให้องค์กรดำเนินการตามเป้าหมายด้าน Sustainability ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- Cloud-native – การพัฒนาหรือสร้างสิ่งใดๆ ที่ใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะของเทคโนโลยีคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ
- Cloud-out to Edge – สถาปัตยกรรมระบบที่มอบความสามารถของคลาวด์ส่วนกลางไปยัง Edge
- WebAssembly (Wasm) – Virtual-stack Machine และ Binary Code ที่ถูกออกแบบขึ้นให้รองรับแอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนหน้าเว็บไซต์โดยมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยขั้นสูง
4. Human-centric Security and Privacy
ธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้นต้องพร้อมป้องกัน รับมือ และแก้ไขสถานการณ์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่เสมอ และการมีระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวซึ่งถูกออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นสำคัญนั้นจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้ ความเชื่อมั่น และความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันภายในองค์กรต่อประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์
AI TRiSM (Trust, Risk, and Security Management) คือเทรนด์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกลุ่ม Human-centric Security and Privacy โดยการบริหารให้การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในองค์กรมีความโปร่งใส อธิบายได้ ปลอดภัย และตรวจสอบได้ตลอดเวลานั้นจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อ AI จากผู้ใช้งานทั้งภายในและนอกองค์กร แนวคิดของ AI TRiSM นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความกังวลของสาธารณะที่มีต่อความเสี่ยงต่างๆ อันอาจเกิดจาก AI ที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงในปัจจุบัน โดยคาดว่าองค์กรทั่วโลกจะยกให้เป็นมาตรฐานใหม่ในอีก 2-5 ปีต่อจากนี้
เทรนด์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ธีมของ Human-centric นั้นมีดังนี้
- Cybersecurity Mesh Architecture (CSMA) – แนวคิดของสถาปัตยกรรมระบบที่ใช้การทำงานร่วมกันของระบบควบคุมด้านความปลอดภัยหลายส่วนที่แยกออกจากกัน (Distributed) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัย
- Generative Cybersecurity AI – การประยุกต์ใช้ Generative AI เข้ามาช่วยในการออกแบบ วางแผน และพัฒนาการรักษาความปลอดภัยของระบบ
- Homomorphic Encryption (HE) – การใช้อัลกอริทึมเพื่อประมวลผลข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถแชร์ข้อมูลที่มีประโยชน์ให้แก่กันและในขณะเดียวกันก็ยังรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไว้ได้
- Postquantum Cryptography (PQC) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Quantum-safe Cryptography – อัลกอริทึมสำหรับการรักษาความปลอดภัยของระบบของข้อมูลจากการโจมตีแบบทั่วไปและจากควอนตัมคอมพิวเตอร์
รู้ก่อน ศึกษาก่อน ได้เปรียบกว่า
Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies นั้นเป็นเพียงบทวิเคราะห์หนึ่งถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งได้หยิบยกเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองมาให้ผู้ที่สนใจได้รู้จักและทำการศึกษาล่วงหน้าเพื่อเตรียมแผนรับมือหรือปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ แม้การคาดเดาอนาคตที่ไม่แน่นอนจะมีความเสี่ยง แต่หากเทรนด์เหล่านี้มีประโยชน์และองค์กรได้เริ่มต้นก่อน นั่นก็หมายถึงการก้าวนำคู่แข่งไปก่อน
4 ธีมหลักที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ที่ประกอบไปด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่หลากหลาย ท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดเจาะลึกลงไปกว่านั้นจะต้องสมัครสมาชิกกับ Gartner เพื่อดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มมาอ่าน แต่สำหรับแต่ละหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงนั้นสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ภายในเว็บไซต์ของ Gartner ที่ https://www.gartner.com/