ตลอดทั้งปีนี้ หลาย ๆ ท่านคงคุ้นเคยและลองได้ใช้งาน ChatGPT แชตบอต AI จาก OpenAI ที่เข้ามาปฏิวัติการทำงานในหลายวงการ โดยเฉพาะสายโปรแกรมมิงและสายผลิตคอนเทนต์
แล้วฝั่งการศึกษาและการเรียนการสอนล่ะ? ครูอาจารย์ นักเรียน สามารถใช้ประโยชน์อะไรจาก ChatGPT ได้บ้าง?
บทความนี้ ADPT ได้สรุปคำแนะนำจาก OpenAI สำหรับการใช้งาน ChatGPT เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในหลาย ๆ ระดับชั้น โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้เรียนตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
ลองไปดูกันว่า ครูผู้สอนทั่วโลกใช้ ChatGPT กันอย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง พร้อมชี้เป้าตัวอย่างคำสั่งพร้อมเริ่มต้นใช้งานกันง่าย ๆ ติดตามได้ในบทความนี้
3 สิ่งต้องคำนึง ก่อนใช้ ChatGPT ในห้องเรียน
ChatGPT ก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ต หากรีดประสิทธิภาพการใช้งานได้อย่างเต็มที่ ChatGPT ก็จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน
แต่ก่อนจะใช้งานนั้น ครูอาจารย์จำเป็นต้องรับทราบถึงเงื่อนไขข้อจำกัดเหล่านี้ก่อน
1. คำตอบที่ได้จาก ChatGPT อาจไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกเสมอไป เพราะ
- คำตอบจาก ChatGPT อาจฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ก็อาจเป็นข้อมูลผิดพลาดหรือบิดเบือนก็ได้
- ChatGPT ไม่ได้รู้ทุกอย่าง เพราะความรู้ไม่ได้อัปเดตถึงปัจจุบัน จึงไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันหรือเทรนด์แนวโน้มต่าง ๆ ได้
- ChatGPT ไม่สามารถค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ตได้ถ้าไม่ได้เปิดใช้งาน Plug-in รวมไปถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือคำตอบ เช่น การคำนวณที่ซับซ้อน เป็นต้น
- ChatGPT อาจมีอคติ เช่นเดียวกับ AI ทั่วไป เพราะโมเดลระบบได้รับการเทรนจากฟากฝั่งผู้พัฒนาชาวตะวันตก และเข้าใจคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด
อย่าลืมว่าตัวครูอาจารย์เองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน ดังนั้น อย่าพึ่งเชื่อทุกอย่างที่ ChatGPT ตอบ แต่ควรใช้ ChatGPT ให้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับการนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้อย่างมีวิจารณญาณ
2. ครูอาจารย์เป็นผู้ที่รู้จักนักเรียนของตัวเองดีที่สุด ดังนั้น หลังจากที่ได้คำตอบจาก ChatGPT แล้ว ก็ลองทบทวนคำตอบ คิดวิเคราะห์ว่าคำตอบที่ได้รับนั้นเหมาะสมที่จะนำไปปรับใช้ในบริบทการเรียนการสอนกับนักเรียนของตนเองหรือไม่
3. ChatGPT จำกัดอายุผู้ใช้งาน 13 ปีขึ้นไป จึงยังไม่ควรให้นักเรียนระดับอนุบาลถึงประถมใช้งาน แต่ถ้าเป็นนักเรียนช่วงอายุ 13 – 18 ปี ก็ควรมีครูอาจารย์หรือผู้ปกครองยินยอมและคอยแนะนำการใช้งานที่เหมาะสม หรือหากครูผู้สอนต้องการให้เด็กต่ำกว่า 13 ปี ใช้งาน ChatGPT เพื่อการศึกษา ก็ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ใช้ ChatGPT ช่วยสอนอย่างไรได้บ้าง?
จากข้อจำกัดที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ChatGPT ไม่ได้เหมาะกับนักเรียนทุกช่วงวัย ด้วยข้อจำกัดเรื่องความรู้ที่ไม่ได้อัปเดตใหม่ล่าสุด หรือคำตอบที่ได้อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ถูกต้อง ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งนักเรียนและครูผู้ใช้งานเองจำเป็นต้องประเมินคำตอบที่ได้ และคิดวิเคราะห์ พิสูจน์คำตอบตามหลักข้อเท็จจริงก่อน
เมื่อเข้าใจหลักการพื้นฐานในการใช้ ChatGPT อย่างมีวิจารณญาณแล้ว เจ้าแชตบอตตัวนี้สามารถนำมาช่วยต่อยอดการเรียนรู้ของนักเรียนได้ในหลากหลายรูปแบบได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
บทบาทสมมติ สนทนากับ ChatGPT
ด้วยฟีเจอร์ความสามารถในการโต้ตอบด้วยภาษาธรรมชาติของ ChatGPT และการกำหนดบทบาทผ่านคำสั่ง Prompt ได้ ทำให้ ChatGPT เหมาะสำหรับนำมาใช้เป็น “ตัวละคร” บทบาทสมมติ เพื่อพูดคุยโต้ตอบกับนักเรียนได้ เช่น
- กำหนดบทบาทให้ ChatGPT เป็นคู่โต้วาที เพื่อมองหาจุดอ่อนในข้อโต้แย้งของตน
- กำหนดให้ ChatGPT เป็นผู้สัมภาษณ์งาน เพื่อฝึกให้นักศึกษาเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน
- กำหนดให้ ChatGPT เป็นเจ้านาย คอมเมนต์งาน ให้ฟีดแบกเพื่อให้นักศึกษาได้แก้ไขปรับปรุง
- ฯลฯ
การใช้ ChatGPT ในบทบาทสมมติในแบบต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนได้จุดประกายความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ที่ตัวผู้เรียนอาจคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป เสมือนเป็นการฝึกซ้อมให้ผู้เรียนมีทักษะหัดคิดรอบด้านในหลากหลายมุมมอง
พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
หากเทียบทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อาจถือได้ว่ารั้งท้ายเลยก็ว่าได้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะนักเรียนแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน เมื่อไม่ค่อยได้ใช้ภาษา ก็ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถใช้งานภาษาในระดับสื่อสารได้
จุดนี้เองที่ ChatGPT จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่ครูอาจารย์สามารถส่งเสริมให้นักเรียนมาฝึกฝนได้ ด้วยการให้ ChatGPT เป็นคู่สนทนาภาษาอังกฤษ ซึ่งข้อดีคือ ผู้เรียนจะรู้สึกไม่ประหม่าเท่ากับการแชตสนทนากับคนจริง ๆ และสามารถฝึกโต้ตอบได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
หากผู้เรียนไม่เข้าใจคำตอบของ ChatGPT ก็สามารถป้อนคำสั่งให้ระบบแปลได้ทันที
ข้อจำกัดของการเรียนภาษาผ่าน ChatGPT คือ ผู้เรียนสามารถฝึกได้แค่ทักษะการอ่านและการเขียน ส่วนการพูดและการฟังอาจต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ เข้าช่วยแทน
สอนทักษะการคิดวิเคราะห์
เนื่องจาก ChatGPT ยังมีอคติด้วยข้อจำกัดของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ดังนั้น ครูผู้สอนก็สามารถฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์กับผู้เรียนได้ โดยลองป้อนคำสั่งที่นำไปสู่คำตอบที่ไม่เป็นกลาง แล้วให้นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คำตอบจาก ChatGPT ว่ามีอคติในแง่มุมไหน
ครูผู้สอนควรเน้นย้ำให้ผู้เรียนเห็นว่า คำตอบที่ได้จากแชตบอตอาจไม่ถูกต้องและไม่อาจเชื่อถือได้เสมอไป และควรตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ผู้เรียนเล็งเห็นความสำคัญของการคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่พบเจอบนโลกออนไลน์
ทักษะการคิดวิเคราะห์นี้จะเป็นการปูทางเตรียมความพร้อมแก่นักเรียนในการเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital citizen) ที่สามารถใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างเข้าใจความหลากหลายในแต่ละแพลตฟอร์ม มีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อการใช้เทคโนโลยีด้วย
=========================
และนี่คือตัวอย่างแนวทางในการนำ ChatGPT ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากการให้ ChatGPT ช่วยสร้างแผนการสอนตามหลักสูตร สร้างแบบทดสอบ
แน่นอนว่ายังมีวิธีการประยุกต์ใช้ ChatGPT เพื่อการศึกษาในอีกหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญคือ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากแชตบอตอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับครูอาจารย์และตัวผู้เรียนด้วย
สำหรับครูอาจารย์ที่สนใจคำสั่ง Prompt พร้อมใช้งาน อย่างการสร้างแผนการสอน วิธีการอธิบายโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบต่าง ๆ รวมไปถึงคำสั่ง AI Tutor สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://openai.com/blog/teaching-with-ai และ https://help.openai.com/en/articles/8313929-how-can-educators-get-started-with-chatgpt