รายงานจาก McKinsey เผย 7 คุณลักษณะขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ ESG

0

ถ้าพูดถึงเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี 2023 คงจะขาดการดำเนินการตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) หรือ Sustainability ไปไม่ได้ ในขณะที่หลายฝ่ายยังมองว่า ESG เป็นเพียงกระแสหรือการลงทุนเพื่อสร้างภาพ องค์กรขนาดใหญ่หลายรายได้ผูกแนวคิด ESG เข้าไปในการวางกลยุทธ์อย่างจริงจังและได้ผลลัพธ์ที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายงานการสำรวจ McKinsey Global Survey ด้าน ESG ได้วิเคราะห์ถึง 7 คุณลักษณะที่องค์กรซึ่งประสบความสำเร็จด้าน ESG มักมีร่วมกัน ที่ทำให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานและการเติบโตของธุรกิจได้จริง

McKinsey Global Survey on Environmental, Social, and Governance

McKinsey Global Survey เป็นการสำรวจที่ McKinsey จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อศึกษาถึงแนวความคิด เทรนด์ และมุมมองต่อธุรกิจขององค์กรต่างๆทั่วโลก ในการสำรวจด้าน ESG ประจำปี 2023 นี้ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,100 รายจากมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 90% กล่าวว่า ESG นั้นเป็นหนึ่งในประเด็นหลักขององค์กร และในหลายอุตสาหกรรมมองว่าการทำ ESG นั้นเป็นการสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ

แม้เราจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการทำ ESG ในด้านสิ่งแวดล้อมกันบ่อยครั้ง เพียง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ระบุว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเป็นลำดับแรกในการทำ ESG จากข้อมูลในการสำรวจ พบว่าหัวข้อที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุดทั่วโลกคือธรรมาภิบาล (Governance) และการปฏิบัติตามมาตรฐานหรือข้อบังคับท้องถิ่น ตามมาด้วยด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละภูมิภาคนั้นก็มีสัดส่วนการให้ความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป เช่น ธุรกิจในทวีปยุโรปจะมุ่งเน้นไปยังประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจในภูมิภาคอเมริกาเหนือซึ่งรวมประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีสัดส่วนการโฟกัสไปที่ประเด็นด้านสังคมสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องมาจากมีประเด็นทางการเมืองอย่างความเท่าเทียมและปัญหาชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนมากแล้วธุรกิจจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้าน Governance

กว่า 43% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าการทำ ESG นั้นสร้างคุณค่าด้านการเงินให้กับธุรกิจของพวกเขา ในขณะที่ 2 ใน 3 กล่าวว่าพวกเขาสามารถสร้างประโยชน์อย่างกว้างขวางจากการทำ ESG ได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินการขององค์กร เช่น การสร้างเป้าหมายให้สมาชิกภายในองค์กรร่วมกัน และการจูงใจให้พนักงานร่วมงานกับบริษัทต่อ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำ ESG นั้นไม่ใช่เพียงการทำตามกระแส แต่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและช่วยในการเติบโตอีกด้วย 

McKinsey ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจนี้และสรุปออกมาเป็นคุณลักษณะ 7 ข้อที่องค์กรซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์จาก ESG ทั้งด้านผลกำไรและคุณค่าอื่นๆมีร่วมกัน ดังนี้

1. ทำ ESG ด้วยมุมมองของ “การเติบโต”
Photo: McKinsey

หากเปรียบเทียบองค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้าน ESG และองค์กรที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่า พบว่าองค์กรเหล่านี้มีแนวโน้มเป็นองค์กรที่มี “การเติบโตของธุรกิจ” เป็นเหตุผลหลักในการทำ ESG และในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามที่มาจากองค์กรเหล่านี้มักไม่กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาดำเนินการในแนวทาง ESG เพื่อให้เป็นไปตามาตรฐานของอุตสาหกรรมหรือกฎหมาย

2. สื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องภายนอกและมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อพวกเขา
Photo: McKinsey

ผู้ตอบแบบสอบถามที่มาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ ESG (กล่าวคือ ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการสร้างคุณค่าทางการเงินและประโยชน์ด้านอื่นอย่างกว้างขวางด้วยการดำเนินการตามกรอบ ESG) มักกล่าวว่าผู้บริหารองค์กรของพวกเขามีการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องภายนอกองค์กร (External Stakeholders) อย่างต่อเนื่องและมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อบุคคลเหล่านั้น

การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าองค์กรที่กล่าวว่าพวกเขามีเป้าหมายในการสื่อสารกับ Stakeholder ภายนอกนั้นมักสร้าง Impact ด้าน ESG ได้มากกว่าองค์กรอื่นๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และยิ่งองค์กรให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากเท่าไร องค์กรนั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะสร้าง Impact ได้สูงกว่าองค์กรอื่น

3. ให้ความสำคัญในการทำ ESG จากเรื่องที่มีความหมายต่อ Stakeholder 
Photo: McKinsey

องค์กรที่ประสบความสำเร็จกับ ESG นั้นมักระบุได้อย่างชัดเจนถึงประเด็นหรือปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับ ESG ในโมเดลธุรกิจของตัวเองที่มีความหมายต่อ Stakeholder หรือเป็นประเด็นที่ผู้คนมีความกังวลถึง ซึ่งการให้ความสำคัญกับการปรับแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะช่วยให้พวกเขาสร้างประโยชน์และ Impact จากการทำ ESG ได้มากกว่าการทำ ESG แบบทั่วไปในหลายด้าน

4. มีผู้บริหารในทีม ESG ที่ทำงานร่วมกับ CEO เพื่อไปถึงเป้าหมายด้าน ESG
Photo: McKinsey

องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ ESG ส่วนใหญ่นั้นมักมีผู้บริหารระดับ C-suite เป็นผู้นำทีม ESG ภายในและทำงานร่วมกับ CEO ในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ด้าน ESG และทดลอง รวมถึงดำเนินโครงการต่างๆในขั้นตอนการทำ ESG 

5. มีทีม ESG กลางที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากหลายฝ่ายในองค์กร
Photo: McKinsey

ข้อมูลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าการมีทีม ESG กลางภายในองค์กรนั้นช่วยให้การทำ ESG ประสบความสำเร็จได้ โดยองค์กรที่ประสบความสำเร็จกับการทำESG นั้นมีแนวโน้มที่จะมีทีม ESG กลางสูงกว่าองค์กรที่มีประสบความสำเร็จน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นทีมขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ทีม ESG กลางนั้นจะมีหน้าที่ในการจัดการกับกลยุทธ์และกำหนดเป้าหมายของแต่ละขั้นตอน ประสานงานในการดำเนินโครงการ รายงานผลลัพธ์ในการทำ ESG และเป็นศูนย์กลางในการนำแนวความคิด ESG เข้าไปอยู่ในทุกขั้นตอนและแผนกขององค์กรอย่างทั่วถึง

6. มี “ความหมาย” ในทุกขั้นตอนขององค์กร
Photo: McKinsey

องค์กรทุกองค์กรนั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะเป้าประสงค์บางอย่าง องค์กรเกิดขึ้นเพื่ออะไร สร้างประโยชน์ใดให้กับโลก อะไรที่ทำให้สมาชิกในองค์กรตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน การพิจารณาถึงคำตอบของคำถามเหล่านี้ที่นอกเหนือไปจากค่าตอบแทนนั้นจะทำให้ “ความหมาย” ขององค์กรชัดเจนขึ้น และจากการสำรวจพบว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ ESG อย่างมากนั้นตระหนักถึงความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี และเชื่อมโยงความหมายเข้ากับสิ่งต่างๆที่องค์กรทำ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร ผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และการบริหารพนักงานและจ้างพนักงานเพิ่มเติม 

McKinsey วิเคราะห์ว่าการตระหนักถึงความหมายโดยทั่วถึงกันทั้งองค์กร และการแสดงออกให้เห็นว่า “ความหมาย” นั้นเป็นส่วนประกอบที่แท้จริงขององค์กรผ่านการนำมันไปเป็นกลยุทธ์ในด้านต่างๆนั้นช่วยส่งเสริมความกระหายในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งส่งเสริมการเกิดขึ้นและดำเนินการต่างๆด้าน ESG เป็นอย่างดี

7. ปรับ KPI และค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ESG
Photo: McKinsey

องค์กรที่ประสบความสำเร็จด้าน ESG มีแนวโน้มที่จะมีแรงจูงใจทางการเงินของ CEO และ CFO ผูกติดอยู่กับผลลัพธ์ด้าน ESG มากกว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าเกือบ 3 เท่าตัว โดยแรงจูงใจนี้อาจไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับผู้บริหารระดับสูง แต่ยังรวมไปถึงพนักงานทั่วไปและตำแหน่งบริหารอื่นๆ การวาง KPIs และผลตอบแทนให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้าน ESG นั้นนอกจากจะช่วยจูงใจให้สมาชิกภายในองค์กรดำเนินการตามกรอบ ESG อย่างแข็งขันแล้ว ยังแสดงออกให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจัง สำหรับทั้งสมาชิกภายในองค์กรและบุคคลภายนอก 


องค์กรที่ถูก McKinsey จัดให้อยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการทำ ESG ทั้งในการสร้างคุณค่าต่อสังคมและการเติบโตของธุรกิจนั้นอาจไม่ได้มีคุณลักษณะครบทั้ง 7 ข้อทุกราย แต่คุณลักษณะทั้ง 7 ข้อที่ได้กล่าวถึงนี้เป็นแพทเทิร์นที่องค์กรมักมีร่วมกัน และสะท้อนให้เห็นว่าการจะทำ ESG ให้เกิดคุณค่าต่อธุรกิจอย่างแท้จริงนั้นย่อมผ่านการวางกลยุทธ์และการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรหลายด้าน สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาบทวิเคราะห์นี้ฉบับเต็ม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่