Erik Schlangen นักศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Deflt University ได้พัฒนายางมะตอยผสมเหล็กที่จะทำให้ถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ รอยแตก หรือกรวดกระจัดกระจายซ่อมแซมตัวเองได้โดยอาศัยพลังงานความร้อนเท่านั้น
เมื่อให้ความร้อนยางมะตอยที่ผสมไฟเบอร์เหล็กที่ว่านี้ด้วยเครื่องเหนี่ยวนำความร้อน น้ำมันดินภายในตัววัสดุจะหลอมละลายและทำให้รอยแยกหรือหลุมกลับมาเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันอีกครั้ง ดังที่ Schlangen ได้แสดงการทำงานของวัสดุดังกล่าวใน TED Talk ด้วยการให้ความร้อนผ่านไมโครเวฟตามคลิปด้านล่างนี้ (และแม้จะไม่ใช่การ “ซ่อมแซมตัวเอง” โดยแท้จริงเพราะยังต้องการความร้อนจากเครื่องเหนี่ยวนำอยู่ ก็ถือว่าการบำรุงรักษานั้นทำได้ง่ายมาก)
ปัจจุบันในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการทดลองใช้ถนนที่สร้างด้วยยางมะตอยที่ซ่อมแซมตัวเองได้ดังกล่าว 12 สาย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2010 และยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์จวบจนขณะนี้ แต่ Schlangen ก็ได้ให้ความเห็นว่าถนนยางมะตอยปกตินั้นก็จะอยู่ในสภาพดีไปได้ 7-10 ปี ดังนั้นการตัดสินคุณภาพของวัสดุจริงควรทำในช่วงเวลาหลังจากนั้น ในขณะเดียวกันเขาก็มีความมั่นใจว่ายางมะตอยผสมนี้จะมีอายุขัยที่นานกว่ายางมะตอยปกติ
ถนนที่ซ่อมแซมตัวเองได้นั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล เช่นในทางเศรษฐกิจที่มีการประมาณการณ์ว่ายางมะตอยชนิดใหม่นี้จะช่วยประหยัดเงินรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ถึงปีละ 90 ล้านยูโร ถึงแม้ต้นทุนในการติดตั้งจะสูงกว่าราวๆ 25% รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการสร้างถนนที่เป็นมิตรกับรถมากกว่าเดิม ลดจำนวนก้อนกรวดที่อาจสร้างความเสียหายให้กับกระจก ลดความเสียหายที่อาจเกิดจากหลุมบ่อ และลดจำนวนถนนที่ต้องปิดเพื่อซ่อมแซมอีกด้วย
ปัจจุบัน Schlangen ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวัสดุดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเขามีความฝันที่ก้าวไกลไปถึงการสร้างถนนที่สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าท่ามกลางการจราจรได้ ซึ่งอาจถูกทำให้เป็นไปได้ด้วยในการส่งข้อมูลหรือสัญญาณไฟฟ้าผ่านยางมะตอยซึ่งมีไฟเบอร์เหล็กเป็นส่วนประกอบ
ไม่แน่ในอนาคต นอกจากถนนที่ซ่อมแซมตัวเองได้แล้ว เราอาจได้เห็นการชาร์จไฟรถยนต์บนท้องถนนกันเป็นปกติก็เป็นได้
อ้างอิง