โครงการวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) สำหรับใช้ในการบำบัดนั้นเสียนี้มีชื่อว่า iMETland ที่ได้รับการสนับสนุนโดย European Union Horizon 2020 สำหรับสร้างนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ขนาดเล็กหรือพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง โดยกระบวนการบำบัดน้ำเสียในโครงการนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- การกักเก็บน้ำเสีย
- การบำบัดน้ำเสียด้วย Biofilter ที่ใช้แบคทีเรียซึ่งจะทำงานเมื่อได้รับการกระตุ้นจากไฟฟ้า ร่วมกับวัสดุนำไฟฟ้า
- การส่งน้ำสะอาดที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับไปใช้งาน
การติดตามคุณภาพของน้ำในแต่ละขั้นตอนนี้เป็นหน้าที่ของ Sensor ที่พัฒนาจาก Libelium Waspmote Plug & Sense! ที่เป็นอุปกรณ์ IoT Node ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์และรองรับ Sensor ได้หลากหลายรูปแบบ โดยสามารถตรวจสอบอุณหภูมิน้ำ, ค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า, ค่าความเป็นกรดด่าง (pH), ความขุ่น, ปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบเช่น ความดัน, ความชื้น และความแรงของแสงอาทิตย์
ข้อมูลจาก Sensor เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง IoT Gateway อย่าง Libelium Meshlium ด้วยเครือข่ายไร้สายตามมาตรฐาน IEEE 802.15.4 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ Low-rate Wireless Personal Area Network (LR-WPAN) ก่อนที่ข้อมูลทั้งหมดใน IoT Gateway นี้จะถูกส่งต่อไปประมวลผลบน iMETland Dashboard ที่ถูกพัฒนาโดย IDbox และระบบ Business Analytics ผ่านทางเครือข่าย 3G
เป้าหมายของโครงการ iMETland นี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่คุ้มค่าต่อการลงทุน, ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกทดสอบแล้วใน 4 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา, เดนมาร์ก, เม็กซิโก และสเปน
อ้างอิง http://www.engineering.com/IOT/ArticleID/14925/Wastewater-Treatment-with-the-Internet-of-Things.aspx