การควบคุมสต็อกของให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าโดยไม่มากไม่น้อยเกินไปนั้นนับเป็นหนึ่งในความท้าทายของการจัดการร้านค้า หลายๆแบรนด์จึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว และหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้คือเทคโนโลยี RFID (Radio-Frequency Identification) ดังที่แบรนด์เสื้อผ้า River Island จากสหราชอาณาจักรได้ทำ
River Island เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยี RFID เมื่อราวๆ 4 ปีก่อน ก่อนที่จะทำการดำเนินการติดแท็ก RFID ที่สินค้าทุกชิ้นในร้านค้า 280 สาขาและในโกดังเก็บสินค้า การติดแท็กดังกล่าวทำให้แต่ละสาขาสามารถตรวจสอบสินค้าที่อยู่ภายในร้านได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบนราวแขวน ในห้องลอง หรือในห้องเก็บของของตัวร้านเอง เปลี่ยนขั้นตอนการตรวจสอบสต็อกที่เคยใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนดำเนินการแค่ปีละ 2 ครั้ง เป็นการตรวจสอบที่รวดเร็วที่สามารถทำได้ทุกๆอาทิตย์ และเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบจากประมาณร้อยละ 70 ขึ้นเป็นร้อยละ 98
การที่ River Island สามารถระบุจำนวนสินค้าได้อย่างแม่นยำนั้นทำให้ทางร้านสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมนั้นมีอยู่ในสต็อกตลอดเวลา ซึ่งช่วยในการเพิ่มยอดขายสินค้าในร้าน และยังลดจำนวนสินค้าที่ถูกวางอยู่ในห้องเก็บของเพราะการกะสต็อกที่ไม่แม่นยำ ทำให้ร้านค้าสามารถรับมือกับความต้องการของลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ความคิดของลูกค้าเปลี่ยนไปมากจนพวกเขาไม่อาจยอมรับได้ว่าไม่มีสินค้าเมื่อพวกเขาต้องการมัน การแข่งขันก็มีสูงจนพวกเขาสามารถซื้อกางเกงยีนส์สักตัวที่ร้านไหนก็ได้ ลูกค้ากำลังผลักดันให้ร้านค้าต้องรู้ว่ามีสินค้าอะไรอยู่ที่ไหนบ้างในทุกๆจังหวะเวลา” – Jon Wright หัวหน้าฝ่ายการป้องกันความสูญเสียและความปลอดภัย กล่าวถึงความจำเป็นในการควบคุมสต็อกของ
เมื่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของพฤติกรรมผู้บริโภคมาพร้อมกับการเติบโตของร้านค้าหลายช่องทาง (omnichannel retailing) ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านทั้งโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชันสนทนา social media และร้านค้า การมีข้อมูลที่แม่นยำของสินค้าทุกชิ้นว่าอยู่ที่ไหนใน supply chain จึงมีความสำคัญเพิ่มยื่งขึ้น โดยเฉพาะในการจัดส่งสินค้าเมื่อมีการสั่งซื้อ
หลังจากการตั้งมาตรฐานของเทคโนโลยี RFID ในปี 2005 และการปรับปรุงมาตรฐานในปี 2008 แท็ก RFID ที่ถูกผลิตขึ้นจะสามารถใช้ที่ใดก็ได้ในโลกภายใต้มาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 75 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนของแท็ก RFID นั้นจะแตกต่างกันออกไปตามจำนวนการสั่งซื้อ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ราวๆ 5 บาท (£0.12) แต่ร้านค้าต่างๆสามารถซื้อได้ในราคาชิ้นละ 2-3 บาทเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว hardware ที่จำเป็นสำหรับระบบก็มีราคาต่ำเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆอีกด้วย
นอกจาก River Island แล้ว ห้างสรรพสินค้า Marks & Spencer และ John Lewis ก็ได้มีการทดลองและใช้จริงในบางสาขา ในขณะเดียวกัน Macy’s ห้างดังจากสหรัฐอเมริกาก็กำลังจะเริ่มโครงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว รวมไปถึง Tesco และ Asda ที่เริ่มหันมาสนใจ RFID นี้เช่นกัน แม้การติดแท็ก RFID ในห้างสรรพสินค้านั้นจะมีความท้าทายแตกต่างกันออกไป เนื่องจากจะต้องทำการตกลงกับแบรนด์ต่างๆที่ส่งสินค้ามายังห้าง แต่ห้างต่างๆก็กำลังก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไป และทำให้เทคโนโลยี RFID ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆในแวดวงค้าปลีก
RFID นับว่าเป็นหนึ่งในจุดเล็กๆของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินการร้านค้าปลีกในอนาคตเพื่อประโยชน์ของทั้งตัวร้านค้าเองและผู้บริโภค