นักวิจัยเกาหลีพัฒนาโมเดล AI ตรวจจับเชื้อแอนแทร็กซ์อย่างรวดเร็ว

0

ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก นักวิจัยจากสถาบัน Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ได้พัฒนาวิธีต่อกรกับอาวุธเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับเชื้อแอนแทร็กซ์ได้รวดเร็วกว่าวิธีดั้งเดิมมาก

ในงานวิจัยดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า holographic microscopy ซึ่งจัดเก็บข้อมูลหน้าคลื่นของแสงในรูปแบบโฮโลแกรมที่ถูกสร้างด้วยการคำนวณผ่าน reconstruction algorithm ที่ใช้ในการสร้างวัตถุ 3 มิติขึ้นจากภาพจริง การใช้เทคนิคนี้ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ภาพของสปอร์ของแบคทีเรียและระบุได้ว่ามันคือเชื้อแอนแทร็กซ์หรือไม่ได้ในเวลาต่ำกว่า 1 วินาที

ในส่วนของปัญญาประดิษฐ์ ทีมนักวิจัยได้ทำการพัฒนาอัลกอริทึม deep learning ให้สามารถตรวจจับความแตกต่างในสปอร์กว่า 400 ชนิดของแบคทีเรีย 5 สายพันธุ์ (เชื้อแอนแทร็กซ์ และแบคทีเรียที่มีลักษณะคล้ายกันอีก 4 สายพันธุ์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันอัลกอริทึมดังกล่าวมีอัตราความแม่นยำในการตรวจจับอยู่ที่ร้อยละ 96 ซึ่งแม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่ทำงานได้รวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาการเพาะเชื้อหรือการดึง DNA ของแบคทีเรียออกมาวิเคราะห์

แอนแทร็กซ์นั้นจริงๆแล้วเป็นชื่อเรียกของการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน เชื้อชนิดนี้สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการสัมผัสหรือการบริโภคเนื้อสัตว์ เมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะเกิดอาการคล้ายไข้หวัดซึ่งก่อให้เกิดสารพิษในเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีนั้นจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงถึงร้อยละ 85

ปัจจุบันวิธีที่นักวิทยาศาสตร์นิยมใช้ในการวิเคราะห์เชื้อแอนแทร็กซ์นั้นคือการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของสปอร์หรือแบคทีเรียในเซลล์ที่ติดเชื้อ แต่วิธีดั้งเดิมนี้ต้องอาศัยระยะเวลาให้สปอร์ขยายตัวก่อนจึงจะมีเชื้อตั้งต้นที่เพียงพอ การตรวจสอบจึงจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดเกือบๆหนึ่งวัน ในอนาคตหากทีมวิจัยจาก KAIST สามารถพัฒนาความแม่นยำของระบบตรวจจับขึ้นมาได้มากขึ้น มันก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจเชื้อแอนแทร็กซ์ที่จะเข้ามาช่วยชีวิตผู้คนได้ก่อนจะสายเกินไป