เมื่อองค์กรใหญ่ๆสร้างวิสัยทัศน์ด้วยนิยาย Sci-Fi

0

นิยายวิทยาศาสตร์หรือ Sci-Fi ได้พิสูจน์ตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งกับความสามารถในการทำนายอนาคต และในมุมหนึ่งของโลก จินตนาการของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็กลายมาเป็นของที่ขายได้จริง โดยมีลูกค้าเป็นองค์กรใหญ่ๆอย่าง Visa, Ford, Pepsi, Samsung, หรือแม้กระทั่ง NATO

เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน Ari Popper ประธานบริษัทวิจัยตลาดได้เข้าร่วมคอร์สการเขียนนิยาย Sci-Fi ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียเพื่อหลบหนีความเบื่อหน่ายจากงาน คอร์สเรียน 10 สัปดาห์นั้นจุดประกายให้เขาจัดตั้งบริษัท SciFutures ซึ่งปัจจุบันมีนักเขียนในสังกัดราวๆ 100 คนที่คอยเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ป้อนให้กับองค์กรใหญ่ๆในหัวข้อที่องค์กรสนใจ เช่น เรื่องราวของการช็อปปิ้งในอนาคตที่ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินใจแทนตัวผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้การทำการตลาดเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

นิยายวิทยาศาสตร์จาก SciFutures นี้มีตั้งแต่ความยาวไม่กี่ร้อยคำไปจนถึงหลายพันคำ ตัวเนื้อหานั้นมักเน้นหลักไปที่สถานการณ์เป้าหมายเต็มที่โดยไม่มีพล็อตย่อยหรือตัวละครประกอบดังเช่นในนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไป SciFutures เผยว่าลูกค้าส่วนใหญ่นั้นชอบเรื่องราวที่จบแบบ happy ending แต่ก็ยอมรับบทสรุปแบบไม่มีความสุขได้หากนิยายสามารถนำเสนอแผนการทางธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงตอนจบที่เลวร้ายเหล่านั้น

หนึ่งในเรื่องราวที่ SciFutures เปิดเผยต่อ The New Yorker คือนิยายที่นักเขียนคนหนึ่งของบริษัทเขียนขึ้นสำหรับโรงงานผลิตลูกกวาด โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเปิดโรงงานผลิตขนมให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมผ่านเทคโนโลยี virtual reality (VR) ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพวิถีปฏิบัติที่เจ้าของกิจการมีต่อลูกจ้างใน supply chain ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกโกโก้ไปจนถึงการผลิต และเมื่อทัวร์จบ ลูกค้าที่แฮปปี้กับโรงงานก็สามารถกลับไปดาวน์โหลดสูตรขนมเฉพาะของโรงงานเพื่อนำไปปรินท์ออกมารับประทานผ่านเครื่องปรินท์ 3D ได้ จะเห็นได้ว่าเรื่องราวนี้มอบแง่มุมให้โรงงานลูกกวาดนี้นำไปขบคิดหลายประเด็น ทั้งเรื่องการดำเนินกิจการ การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า และอนาคตของการผลิตลูกกวาด

Ken Liu หนึ่งในนักเขียนผู้ร่วมงานกับ SciFutures ผู้มีผลงานชนะเลิศรางวัล Hugo Award ให้ความเห็นถึงอาชีพการเขียนนิยายแบบนี้ว่า แม้จะเป็นงาน freelance ที่ไม่ได้ค่าเหนื่อยตอบแทนที่มากมายนัก แต่มันก็เปิดโอกาสให้นักเขียนใช้จินตนาการของตัวเองในการปั้นแต่งการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตตามที่พวกเขาวาดฝัน ซึ่งในทุกครั้ง นักเขียนก็มั่นใจได้ว่าอย่างน้อยๆผู้ที่จะอ่านนิยายของเขาจะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

นอกจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าแล้ว อีกหนึ่งลูกค้าคนสำคัญของ SciFutures คือทหาร ผู้ซึ่งมอบโอกาสให้จินตนาการของนักเขียนโลดแล่นไปยังพื้นที่ที่ดำมืดได้มากกว่าลูกค้าคนอื่นๆ เพราะ mindset ของการทหารนั้นคือการคิดถึง worst case scenario ในปีที่ผ่านมา นักเขียนของ SciFutures มีผลงาน 13 เรื่องที่ถูกนำไปหารือใน workshop ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิก NATO โดยนิยายที่ถูกขึ้นมาหารือในที่ประชุมนี้ก็มีเช่น เรื่องราวของการแฮค smart gun ที่เกือบทำลายล้างมนุษยชาติ, เรื่องราวของกลุ่มเด็กๆที่กลายเป็นทหารเด็กโดยไม่รู้ตัวผ่านการเล่นเกมยิงเป้าหมายออนไลน์ ที่ถูกนำไปเชื่อมต่อกับระบบ drone และอาวุธที่ทำงานระยะไกลของรัฐบาลรัสเซีย, และเรื่องราวของกลุ่มทหาร Fear Battalion ของจีนที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมให้สามารถแพร่ฟีโรโมนที่ทำให้ศัตรูหวาดกลัวได้

ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนสามารถทำได้เกือบทุกอย่างเหมือนทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนในสายธุรกิจเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้วในการสร้างวิสัยทัศน์ที่รัดกุม ธุรกิจสร้างวิสัยทัศน์ของ SciFutures ชวนให้เรานึกถึงคำพูดถึง Henry David Thoreau ผู้ริเริ่มแนวคิดอารยะขัดขืนที่ว่า “โลกนี้นั้นเป็นเพียงผ้าใบรอการแต่งแต้มจากจินตนาการของพวกเราเท่านั้น”