6 วิธีที่หุ่นยนต์ถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

0

เอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นภูมิภาคที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดในการเติบโตของอุตสาหกรรม automation ด้านอาหารที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 จากรายงานการวิจัยของ MarketsandMarkets หลายท่านอาจยังมองไม่เห็นภาพว่าอุตสาหกรรมอาหารจะนำหุ่นยนต์ไปใช้อย่างไรบ้าง บทความนี้จึงขอเสนอ 6 วิธีที่หุ่นยนต์ถูกนำไปใช้มาให้ได้อ่านกัน

(อ้างอิง: Top 6 robotic applications in food manufacturing)

1. หุ่นยนต์ชำแหละเนื้ออัตโนมัติ

งานชำแหละเนื้อนั้นเป็นงานที่มีรายละเอียดเยอะและยากที่จะพัฒนาระบบอัตโนมัติขึ้นมาทำแทนมนุษย์ แต่ล่าสุด JBS บริษัทผู้ผลิตและบรรจุเนื้อรายใหญ่ก็ได้เริ่มนำระบบชำแหละเนื้ออัตโนมัติที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ภาพเข้ามาใช้งาน ซึ่งช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอของคุณภาพในการชำแหละและลดความเสี่ยงของพนักงานไม่ให้เข้าใกล้อุปกรณ์ชำแหละที่อันตรายด้วย

2. หุ่นยนต์หยิบจับ

ผักและผลไม้นั้นมักมาในขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน และในการทำอะไรสักอย่างกับพวกมันนั้นก็ต้องอาศัยความเบามือเพื่อป้องกันความบอบช้ำจึงนิยมใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก แต่ล่าสุด Soft Robotics Inc ได้พัฒนาเทคโนโลยีหยิบจับที่สามารถนำมาใช้กับผักผลไม้โดยไม่สร้างความเสียหายขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ และทางต้นสังกัดเองก็โฆษณาว่าการหยิบของหุ่นยนต์นี้นั้นอ่อนโยนจนสามารถหยิบใบผักกาดทีละใบได้สบายๆ

อีกหนึ่งงานที่ง่ายกว่าการหยิบจับผักผลไม้คืองานหยิบจับอาหารไปวางในอีกจุดหนึ่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้โรงงานผู้ผลิตอาหารมีขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเดิมที่อาศัยแรงงานมนุษย์

3. หุ่นยนต์ตัดและหั่น

การตัดและหั่นโดยทั่วไปนั้นเป็นขั้นตอนที่ง่ายและไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีระดับหุ่นยนต์เลย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานตัดและหั่นระดับสูงที่เคยเป็นข้อจำกัดในอดีตได้ เช่นการหั่นปลาซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการตรวจหาและหั่นส่วนที่เสียออกเท่าๆกับความสามารถในการหั่นปลาให้เป็นชิ้นขนาดเดียวกัน

4. หุ่นยนต์ผลิตเค้ก

เค้กนั้นเป็นอาหารที่มีหุ่นยนต์ที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่หุ่นยนต์พื้นฐานในการหยิบจับ ตัด (ด้วยใบมีด หรือหากยังล้ำไม่พอ ก็มีหุ่นยนต์ที่ตัดเค้กด้วยสายน้ำแรงดันสูงด้วย) และบรรจุหีบห่อของเค้ก ไปจนถึงหุ่นยนต์ที่ประกอบเค้กหลายๆชั้นเข้าด้วยกันและหุ่นยนต์ตกแต่งหน้าเค้ก

5. หุ่นยนต์ทำพิซซ่า

Zume สตาร์ทอัพจาก Silicon Valley เคยสร้างความฮือฮากันมาแล้วเมื่อเปิดตัวในฐานะร้านพิซซ่าที่ใช้หุ่นยนต์เป็นส่วนใหญ่ในขั้นตอนการทำ โดย Zume ให้เหตุผลว่าการใช้หุ่นยนต์นั้นทำให้ทางร้านสามารถควบคุมคุณภาพของพิซซ่า และย่นระยะเวลาในการประกอบอาหารได้กว่าครึ่ง อีกทั้งแทนที่จะต้องลงทุนในการจัดหาแรงงานเพื่อทำงานที่ซ้ำๆน่าเบื่อ เมื่อมีหุ่นยนต์แล้วทางบริษัทก็สามารถนำเงินไปลงทุนกับวัตถุดิบคุณภาพดีได้อย่างเต็มที่

6. หุ่นยนต์เก็บล้าง

อะไรจะน่าเบื่อไปจากการล้างจานหลังทำอาหารเสร็จ ในโรงงานผู้ผลิตอาหารก็เช่นกัน การเก็บล้างสถานที่และอุปกรณ์ ซึ่งรวมไปถึงตัวหุ่นยนต์เอง นับเป็นขั้นตอนสำคัญของการผลิตอาหาร เพราะถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะช่วยลดอัตราการปนเปื้อนในอาหารที่มักมากับมนุษย์ ตัวมันเองก็ต้องการการดูแลความสะอาดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าหุ่นยนต์จะไม่กลายมาเป็นแหล่งของสิ่งปนเปื้อนเสียเอง