ก้าวไปอีกขั้น! AI ตรวจวัดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้

0
https://images.unsplash.com/photo-1505924618867-ff42db34a861?dpr=1&auto=format&fit=crop&w=1350&q=60&cs=tinysrgb

เป็นที่ทราบกันดีว่า Artificial Intelligence หรือ AI นั้นได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงในด้านการแพทย์ด้วย โดยล่าสุด AI ได้รับการพัฒนาให้มาช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงได้ในที่สุด

งานวิจัยนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนดำเนินการทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์จาก Harvard Medical School ห้องทดลอง Massachusetts Computer Science and Artificial Intelligence และโรงพยาบาล Massachusetts General โดยการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ได้นำมาทดสอบกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม 335 ราย ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายได้แม่นยำถึง 97% และการที่นำ AI เข้ามาใช้ในการวินิจฉัยนั้นได้ช่วยลดจำนวนการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นไปได้มากกว่า 30%

ระบบนี้ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย ภูมิหลังครอบครัว การตัดเนื้อเยื่อเพื่อวินิจฉัยและรายงานอาการของโรค เพื่อให้สามารถตรวจจับรูปแบบ หรือ pattern ที่คล้ายคลึงกันเพื่อทำนายผลได้อย่างแม่นยำ

“เนื่องจากว่าเครื่องมือวินิจฉัยยังไม่เสถียรและแม่นยำนัก จึงมีแนวโน้มที่แพทย์จะตรวจสกรีนหามะเร็งในเต้านมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในเมื่อข้อมูลไม่แน่นอนอย่างนี้ ก็จำเป็นต้องนำ Machine Learning เข้ามาช่วยตรวจคัดกรอง และป้องกันการรักษาที่ซ้ำซ้อนได้อย่างแน่นอน” ศ.เรจินา บาร์ซิเลย์ (Regina Barzilay) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่ง MIT อีกทั้งยังเป็นผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมด้วย ได้กล่าวไว้

โดยปกติแล้ว เครื่องมือหลักที่ใช้ในการตรวจหามะเร็งเต้านมคือ แมมโมแกรม (Mammogram) แต่ผลที่ออกมาก็คลาดเคลื่อนได้เช่นกัน อย่างเช่น บางครั้งเครื่องตรวจพบเนื้อเยื่อที่เข้าข่ายเป็นมะเร็ง แต่เมื่อผ่าตัดแล้วกลับกลายเป็นว่าเซลล์นั้นไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ

ศ.คอนแสตนซ์ เลห์แมน (Constance Lehman) ศาสตราจารย์ประจำ Harvard Medical School และหัวหน้าแผนกรังสีวิทยาของ MGH กล่าวว่า “เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยตัดสินใจดำเนินการรักษาได้ดีขึ้น และจะช่วยให้ทางทีมแพทย์ให้การรักษาได้อย่างเจาะจงมากขึ้น”

Source : http://www.bbc.co.uk/news/technology-41651839