ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้ Drone ในการเพาะปลูกที่จีน รูปแบบใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา และล่าสุดชาวนาที่จีนก็เริ่มสร้าง Sharing Economy สำหรับการใช้ Drone ในการเกษตร แบ่งปัน Drone ระหว่างกลุ่มชาวนาด้วยกันเองแล้ว
ในปี 2013 นั้นถึงแม้อัตราการใช้ Drone ในเชิงการเกษตรที่จีนจะยังคงมีเพียงแค่จำนวน 500 เครื่องเท่านั้น แต่ในปี 2016 กลับมีรายงานการใช้ Drone ในเชิงการเกษตรที่สูงถึง 8,000 เครื่อง และนักวิเคราะห์ยังได้ทำนายว่าสิ้นปี 2017 นี้ปริมาณการใช้ Drone เพื่อการเกษตรที่จีนอาจโตถึง 16,000 เครื่อง ตัวเลขการเติบโตนี้ก็ถือเป็นอีกข้อบ่งชี้ที่น่าสนใจว่า Drone นั้นสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพและผลิตผลทางการเกษตรได้จริง
ถึงแม้ Drone เพื่อการเกษตรนั้นจะมีราคาค่อนข้างสูงจนหลายๆ คนอาจคิดว่ามีแต่ไร่สวนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะใช้งานได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเหล่ากสิกรรายย่อยเองนั้นก็เป็นอีกกลุ่มที่ให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นอย่างมากเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และเรื่องราวนี้เองที่นำมาซึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับ Wen Bohua ชาวนาผู้มีที่ดินเพาะปลูก 4,000 ตารางเมตรที่นำ Drone มาใช้ในการเพาะปลูก
Wen ได้ทำการลงทุนซื้อ Drone ทางการเกษตรมาจากบริษัท Xaircraft ผู้ผลิต Drone สัญชาติจีนที่ราคาประมาณ 20,000 เหรียญหรือ 700,000 บาทสำหรับการเพาะปลูกของเขา แต่เมื่อเพื่อนบ้านเห็นการนำ Drone ของเขามาใช้แล้วก็ได้เกิดความสนใจ และว่าจ้างให้ Wen ช่วยใช้ Drone ในการเพาะปลูกกับไร่สวนนารอบๆ ด้วย จนปัจจุบัน Wen ได้กลายเป็นผู้ให้บริการ Drone ทางการเกษตรแก่กสิกรในมณฑลเดียวกันรวมพื้นที่กว่า 6.5 ล้านตารางเมตร หรือเกือบๆ 32 เท่าของพื้นที่เพาะปลูกของเขาเองเลยทีเดียว หากจะเรียกว่าเป็น Sharing Economy ของการใช้ Drone ก็คงไม่ผิดนัก ด้วยเหตุนี้เองก็ทำให้ Drone นั้นไม่ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่จะถูกผูกขาดกับเฉพาะเหล่ากสิกรรายใหญ่เท่านั้น แต่รายเล็กก็สามารถรวมพลังและใช้งาน Drone ได้อย่างคุ้มค่าได้เหมือนกัน
การนำ Drone มาใช้นี้ถือเป็นทางออกของเหล่ากสิกรจีนในเวลานี้ที่ค่าแรงคนงานได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่าในช่วงปี 2013 – 2016 โดยค่าแรงที่ต้องจ่ายนี้ก็จะสูงขึ้นไปตามขนาดของพื้นที่เพาะปลูกและเวลาที่ใช้ Drone ทางการเกษตรจึงกลายเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจากการสำรวจนั้นพบว่าเพียงแค่ตลาดการฉีดยาฆ่าแมลงนี้ก็มีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านหยวนต่อปี หรือ 2.1 ล้านล้านบาทแล้ว
อย่างไรก็ดี ประเด็นเหล่านี้ได้นำมาซึ่งสิ่งที่ทางการรัฐของจีนต้องขบคิด ก็คือการออกกฎหมายและการวางมาตรฐานสำหรับการนำ Drone ไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยในกรณีของภาคการเกษตรนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการพยายามควบคุมความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่ Drone ได้บรรจุยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีจำนวนมากไปด้วย และฉีดโปรยลงมาจากที่สูงนั่นเอง
Source: https://dronelife.com/2017/10/13/chinese-farmers-yield-ample-harvest-crop-dusting-drones/