Amazon นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติและ big data เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่เสมอๆ และเช่นเดียวกัน สิทธิบัตรฉบับหนึ่งที่ Amazon ถือไว้ในมือนี้ก็มีรายละเอียดถึงนวัตกรรมใหม่น่าสนใจ ซึ่งใช้ predictive analytics มาพัฒนาระบบที่จะทำให้ Amazon สามารถส่งของไปรอได้ก่อนที่ลูกค้าจะทำการสั่งซื้อเสียอีก
ไอเดียของนวัตกรรมดังกล่าวที่เรียกว่า Anticipatory Shipping นี้คือการสร้างระบบที่ใช้เทคโนโลยี predictive analytics ทำนายจากข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า เช่น ประวัติการสั่งซื้อ ของที่อยู่ในตะกร้า ของที่อยู่ใน wish-list ว่าลูกค้านั้นมีแนวโน้มที่จะทำการสั่งซื้อใด แล้วทำการจัดส่งออกไปในทิศทางที่ใกล้กับบริเวณที่ลูกค้าพักอาศัย แม้จะยังไม่มีคำสั่งซื้อใดๆเกิดขึ้นก็ตาม ในเอกสารสิทธิบัตรบรรยายถึงการจัดส่งที่”ยังไม่ต้องมีจุดหมายปลายทาง”ซึ่งสามารถถูกระบุที่หมายได้ในภายหลังระหว่างการจัดส่ง โดยที่ทิศทางในการจัดส่งนั้น Amazon ระบุในสิทธิบัตรว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธุรกิจหลายอย่าง เช่น แพทเทิร์นการซื้อ หรือข้อมูลโดยตรงที่ได้จากแบบสอบถาม
สิทธิบัตรดังกล่าวยังได้กล่าวถึงหลายกรณีที่อาจเกิดขึ้นในการจัดส่ง และวิธีการเปลี่ยนที่หมายปลายทางของพัสดุหรือสินค้ากลางทาง ซึ่งรวมไปถึงการจัดให้สินค้านั้นๆอยู่ในระบบการขนส่ง หรือรถบรรทุกสินค้าอยู่ตลอดจนกว่าจะมีคำสั่งซื้อเกิดขึ้น
Anticipatory Shipping นี้อาจฟังดูเป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้น ทว่าระบบก็ยังมีช่องโหว่ในตัวมันเองอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการที่ระบบทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนแนวโน้มที่ลูกค้าจะสั่งซื้อของ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยอันหลากหลายและซับซ้อน หากไม่มีการสั่งซื้อเกิดขึ้นจริง Amazon อาจต้องแบกรับภาระค่าขนส่งและจัดเก็บสินค้าจำนวนมากที่อาจไม่มีใครสั่ง หรือในกรณีที่เลวร้ายไปกว่านั้น หากสินค้าเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ การส่งของไปรอไว้ก่อนก็คงไม่สมเหตุสมผลนัก
นอกจากนั้นแล้ว หาก Amazon สามารถดำเนินการ Anticipatory Shipping ได้สำเร็จ แน่นอนว่าพวกเขาก็จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการส่งของที่คงจะทำให้ธุรกิจ e-commerce และ retail เจ้าใหญ่ๆต้องออกระบบที่คล้ายคลึงกันออกมาอย่างเสียไม่ได้
แน่นอนว่าการสร้างระบบให้ทัดเทียม Amazon ที่มีโครงสร้างและนวัตกรรมระดับโลกนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย อีกทั้งระบบดังกล่าวยังเป็นระบบที่ต้องรื้อโครงสร้างระบบคลังสินค้าและการจัดส่งขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่า หาก Amazon ทำโครงการนี้ได้สำเร็จเมื่อไหร่ พวกเขาจะก้าวไปสู่การเป็น e-commerce ในระดับที่คู่แข่งยากจะทัดเทียม
ในขณะเดียวกันในส่วนของผู้บริโภคทั่วไป ระบบดังกล่าวถือว่าเป็นข่าวดีของการช็อปปิ้งออนไลน์เลยทีเดียว เพราะในวันหน้าระบบเช่น Anticipatory Shipping นี้อาจทำให้เราได้รับของที่สั่งซื้ออย่างรวดเร็วในระดับเดียวกับการสั่งพิซซ่าได้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม สิทธิบัตรนี้ถูกยื่นคำร้องขอขึ้นเมื่อปี 2012 และได้รับการอนุมัติในช่วงปลายปี 2013 ทว่าจวบจนปัจจุบัน เราก็ยังไม่ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับ Anticipatory Shipping มากนัก บริษัทใหญ่ๆอย่าง Amazon นั้นมีสิทธิบัตรหลายต่อหลายใบที่ไม่ถูกนำมาพัฒนาใช้งานจริง จึงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า ไอเดียสุดเจ๋งนี้จะกลายมาเป็นความจริงได้หรือไม่