[PR] อินฟินิออนร่วมกับสจล.เปิดแลปรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกในอาเซียน

0

อินฟินิออน ผู้นำเซมิคอนดัคเตอร์โลก ผนึกความร่วมมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดศูนย์ปฎิบัติการอิเล็คทรอนิกส์ยานยนต์ และรถไฟฟ้า แห่งแรกในอาเซียน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงแก่นศ.และผู้ประกอบการชิ้นส่วนของไทย ป้อนฮับ EV และ EEC

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันฟอสซิลมาเป็น EV รถยนต์ไฟฟ้าเป็นกระแสทั่วโลก เพื่อสมาร์ทไลฟ์และเมืองอัจฉริยะ เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ประเทศไทยจึงต้องมุ่งพัฒนาจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เดิมก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกกำลังกับ อินฟินิออน เทคโนโลยีส์ เอเชีย แปซิฟิก เปิดศูนย์ปฏิบัติการอิเล็คทรอนิกส์ยานยนต์ และรถไฟฟ้า ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ภายใต้โครงการความร่วมมือ KMITL-Infineon Automotive Electronics Cooperation (KIAEC) ตั้งเป้าวิจัย(R&D) และปั้นหลักสูตร ป.ตรี วิศวกรรุ่นใหม่เปิดปี 2019 และหลักสูตรระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการชิ้นส่วน สตาร์ทอัพเปิดมีนาคม 2018 เพื่อป้อนสนับสนุนอุตสาหกรรม EV และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)ให้ยั่งยืน

มร.ซี.เอส.ชัว ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ อินฟินิออน เทคโนโลยีส์ เอเซีย แปซิฟิก กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ 40 ปี พนักงานกว่า 37,500 คน สร้างงานสร้างรายได้ 7,063 ล้านยูโรในปี 2017 อินฟินิออน นับเป็นองค์กรที่เติบโตเร็วที่สุดในด้านอุตสาหกรรม (ออโตเมชั่น, โลจิสติกส์, พลังงานทางเลือก), ยานยนต์ (ระบบไร้คนขับ และ e-mobility) ตลอดจนระบบความปลอดภัยดิจิทัล (IoT, eID, Smart wearables) ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ้นเปลืองน้อยลง และทุกคนเข้าถึงได้

 

มร.อันโตนิโอ โมเนตติ ผู้อำนวยการการตลาด แผนกยานยนต์ และผู้อำนวยการส่วนการพัฒนาธุรกิจประเทศไทย บริษัท อินฟินิออน เทคโนโลยีส์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า อินฟินิออน มุ่งเน้นวิสัยทัศน์และภารกิจร่วมพัฒนาประเทศไทยใน 4 ด้าน คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย, เพิ่มความเข้มแข็งให้งาน R&D ในประเทศ พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อ EV พัฒนาจากการเป็นฐานแหล่งผลิตไปสู่ความเป็นฮับพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Development Hub) การยกระดับพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นหรือระบบนั้น การสร้างอนาคตต้องเริ่มทำแต่วันนี้โดยฝึกอบรมทักษะระดับสูงของนักศึกษาและพนักงานผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่

  1. สร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัยอิเล็กทรอนิกส์ระดับสูงในประเทศ
  2. องค์ประกอบของความสำเร็จ ได้แก่ ความสามารถในนวัตกรรมและศักยภาพของเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ต้องได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  3. ต้องทำให้วิศวกรของเอสเอ็มอีและนักศึกษาไทย สามารถฝึกฝนทักษะเข้าถึงประสบการณ์ระดับโลกในระบบและเทคโนโลยียานยนต์
  4. ศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และ EEC

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า “คน” เป็นผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม EV ศูนย์ปฏิบัติการอิเล็คทรอนิกส์ยานยนต์และ EV แห่งนี้จะสร้างหลักสูตร 2 แบบ คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กำหนดเปิดในเดือนมีนาคม 2018 และหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปีการศึกษา 2019

ส่วนในด้านงานวิจัย EV ปี 2018-2019 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้รับงบจากรัฐบาลโดยสร้างศูนย์ทดสอบสำหรับแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนมาตรฐานการทดสอบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า กับอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า(EV Charger) นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้รับทุนวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับ Smart Grid System, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และ รถยนต์ไฟฟ้า(EV)

“เรามั่นใจว่าการเปิดศูนย์ปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และ EV ครั้งนี้ จะช่วยพัฒนา“คน”ที่มีองค์ความรู้และทักษะระดับสูง มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น EV แทนการทำธุรกิจแบบซื้ออุปกรณ์สำเร็จมาประกอบ โดยไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง การสร้างมูลค่าเพิ่มจะนำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.คมสัน กล่าว

ดร.สมภพ ผลไม้ หัวหน้าภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ภายในศูนย์ปฏิบัติการ EV นี้มีความก้าวหน้าทันสมัยด้วยอุปกรณ์ชุดพัฒนา (Development Kit) สำหรับประยุกต์ใช้ในงานอิเล็คทรอนิกส์ยานยนต์ เช่น ชุดควบคุมมอเตอร์กระจกไฟฟ้า, เก้าอี้ไฟฟ้า, ปรับหรี่ไฟแอลอีดีภายใน/ภายนอกรถยนต์ ,ชุดระบบเซ็นเซอร์ต่างๆในรถยนต์ พร้อมชุดซอฟต์แวร์ครบครันที่จะรองรับงานวิจัยพัฒนาระดับสูง ทั้งนี้ในปีแรกเราตั้งเป้าพัฒนาฝึกอบรมแก่ อาจารย์และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมาณ 60 คน โดยเนื้อหา แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ ECU เกี่ยวกับสมองกลของรถยนต์, ระดับ BCU การควบคุมและอำนวยความสะดวกของตัวรถ และระดับ Traction Drive ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า แต่ละระดับจะเปิดอบรมปีละประมาณ 2 ครั้ง ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมสมองกลฝังตัวไทย, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสถาบันการศึกษาต่างๆ กลุ่มเป้าหมายคือวิศวกร เทคนิเชียนของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นักศึกษา นักวิจัยจากภาครัฐและภาคเอกชน