ดำเนินมาเป็นปีที่ 2 แล้วสำหรับรางวัล Digital Transformation Awards (DXa) ซึ่ง IDC จัดตั้งขึ้นเพื่อมอบให้กับองค์กรที่มีความโดดเด่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจจนประสบความสำเร็จในแต่ละปี ซึ่งในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา IDC ก็ได้เผยรายชื่อ 6 องค์กรเจ้าของโครงการที่ได้รับรางวัลในสาขาต่างๆออกมาแล้ว
ปี 2018 นั้นนับเป็นปีแห่งจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจ Digital Transformation กล่าวคือ Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างนวัตกรรมนั้นได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างสินค้าและบริการ เกิดเป็นคุณค่ารูปแบบใหม่ของธุรกิจ และจะสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคโดยตรง องค์กรทั้งหลายต่างหันมาให้ความสนใจกับการปรับรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ และมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนเป็นองค์กรแบบ digital native กันมากขึ้น
Digital Transformation Awards นี้เป็นรางวัลที่ IDC พิจารณาจาก digital transformation framework ที่ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ ความเป็นผู้นำ การใช้ข้อมูล การสร้าง omni-experience รูปแบบการดำเนินการ และการจัดการบุคลากร ปัจจัยทั้ง 5 ถูกนำมาแจกแจงเป็นเกณฑ์ 200 ข้อย่อย ซึ่งนำมาใช้ในการตัดสินผู้ชนะ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
Digital Transformer of the Year: Mitr Phol
โครงการปฏิรูปดิจิทัลของกลุ่มมิตรผลนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนแบบ end-to-end โดยเริ่มจากขั้นตอน design thinking ที่เข้ามาออกแบบให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้จริง แกนหลักของการปฏิรูปครั้งนี้นั้นอยู่ที่การปรับทัศนคติให้กับสมาชิกภายในองค์กรให้มี digital mindset และการ digitalisation ขั้นตอนด้วยระบบ ERP ซึ่งเชื่อมต่อทุกกระบวนการเข้าด้วยกัน ช่วยให้การทำงานลื่นไหล กำจัดจุดที่ด้อยประสิทธิภาพ มีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการดำเนินการ เกิดเป็นการทำงานที่เร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง เทคโนโลยีเช่น IoT, automation, และ machine learning ถูกนำมาใช้ในขั้นตอน supply chain management การดูแลรักษาซ่อมบำรุงโรงงาน และการบริหารคลังสินค้า ช่วยให้มิตรผลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคลังได้กว่า 12 ล้านบาท
Operating Model Master of the Year 2018: Ananda Development PCL
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างโดยทั่วไปจากการศึกษาของ McKinsey นั้นยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอัตราที่น้อยอย่างน่าเสียดาย แต่ Ananda Development นั้นคิดต่าง พวกเขามองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ และได้มีความพยายามในการนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพกรทำงานขององค์กร Ananda Transfer App เป็นตัวแทนแห่งแนวคิดนี้ของอนันดา แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในขั้นตอนการตรวจรับห้องชุด ใช้เทคโนโลยีเช่น speech-to-text และ image recognition เข้ามาช่วยให้ผู้ใช้สามารถแจ้งถึงปัญหาในการรับห้องได้โดยง่ายและชัดเจน และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถรับทราบถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
Omni-Experience Innovation of the Year: CIMB XLR8
รางวัลนี้นั้นเป็นรางวัลที่มอบให้กับธุรกิจที่สามารถสร้างประสบการณ์การในรูปแบบ omni-channel ได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ และโครงการที่ได้รับรางวัลนี้ คือ XLR8 โครงการธนาคารดิจิทัลของ CIMB ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับประสบการณ์การเข้าถึงธนาคารให้ทัดเทียมกันให้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางธนาคารสาขาแบบดั้งเดิม ผ่านทางตู้ ATM สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ผ่านตู้ kiosk หรือผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ในปัจจุบัน ลูกค้าธนาคาร CIMB สามารถเปิดบัญชี หรือยื่นคำร้องขอสินเชื่อผ่านช่องทางเหล่านี้ได้โดยง่าย และได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วสูงสุดเพียง 15 นาที จากเดิมที่ใช้เวลา 3 ถึง 7 วันทำการ
Information Visionary of the Year: Insight Discovery by Krugsri Bank
ธนาคารกรุงศรีนั้นมีความเชื่อว่าในปัจจุบันนั้นลำพังข้อมูลที่ลูกค้ามอบให้แก่ธนาคารผ่านช่องทางดั้งเดิม เช่น การกรอกใบสมัคร หรือประวัติการทำธุรกรรม นั้นยังคงไม่เพียงพอที่จะสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ธนาคารกรุงศรีจึงเกิดไอเดียในการนำข้อมูลจากสื่อโซเชียลเข้ามาเสริมข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ช่วยให้ธนาคารรู้จักและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถสร้างบริการในลักษณะ personalised เพื่อสร้างความพึงพอใจได้ดียิ่งกว่า เช่นการแนะนำสิทธิพิเศษและบริการของธนาคารให้ตรงตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
Talent Accelerator of the Year: AIS
ความขาดแคลนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลนั้นเป็นปัญหาแม้กระทั่งกับองค์กรขนาดใหญ่ AIS จึงจัดโครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาคอร์สการอบรมพนักงานเพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเดิม โดยโครงการนี้ช่วยสร้างทั้งความรู้ และทัศนคติที่เหมะสมต่อการดำเนินองค์กรในลักษณะ data-driven การจัดโครงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนี้ช่วยให้พนักงานภายในองค์กร AIS ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูล มีทักษะที่เพียงพที่จะเปิดรับเทคโนโลยีข้อมูลใหม่ๆ และเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี machine learning และ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะ descriptive analytics เช่น การทำนายลูกค้าที่มีแนวโน้มจะเลิกใช้บริการ เป็นต้น
Digital Disruptor of the Year: SCB Abacus E-Marketplace Digital Lending Platform
การเข้าถึงสินเชื่อนั้นยังเป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ e-commerce ในประเทศไทย ด้วยขั้นตอนการขอสินเชื่อที่ซับซ้อน และข้อจำกัดของธุรกิจขนาดเล็กที่หลายรายก็ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น แพลตฟอร์มขอสินเชื่อออนไลน์ของ SCB Abacus นั้นมีโมเดลการประเมินความเสี่ยงที่ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจ e-commerce โดยเฉพาะ โดยจะทำการดึงข้อมูลของธุรกิจร้านค้าออนไลน์ เช่น feedback ของลูกค้า ประกอบกับข้อมูลส่วนอื่นๆเข้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ว่าควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ และตอบผลกลับไปยังลูกค้าอย่างรวดเร็ว ระบบนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการ e-commerce สามารถยื่นคำร้องขอสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้โดยง่าย อนุมัติวงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทโดยใช้เวลาขั้นต่ำเพียง 15 นาทีเท่านั้น