นักวิจัยจาก Facebook ได้สร้างแพลตฟอร์ม open-source ชื่อ Habitat ที่ให้ AI เรียนรู้โลกความจริงทางกายภาพได้อย่างรวดเร็วโดยให้ AI อยู่ในสภาพแวดล้อมจริงภายในบ้านจำลอง ซึ่ง Facebook หวังว่าจะช่วยให้นักวิจัยสร้าง AR และ VR ได้สมจริงมากขึ้น
การสอนหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วย AI ให้ทำงานต่างๆ ในโลกแห่งความจริงได้นั้นต้องใช้เวลามาก การนำหุ่นยนต์มาฝึกเคลื่อนไหวในพื้นที่จริงอาจต้องใช้เวลาเป็นหลายร้อยชั่วโมง หรือแม้แต่หลายปีสำหรับ AI ที่จะเรียนรู้เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ระบุวัตถุได้ และตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้
แต่หากเปรียบเทียบกับ AI ที่ถูกวางอยู่ในบ้านจำลองเสมือนจริงแล้วนั้น ความเร็วในการฝึกก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วของคอมพิวเตอร์ที่ใช้คำนวณโลกสามมิติ ซึ่งนั่นหมายความว่า แทนที่จะให้หุ่นยนต์มาคอยชนเข้ากำแพงเมื่อต้องมาฝึกโนโลกจริง AI ก็สามารถเรียนรู้ข้อมูลที่ใช้ชั่วโมงฝึกนับหลายพันได้ภายในเวลาสั้นเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ ในขณะที่กลไกการจำลองอื่นๆ ใช้ความเร็ว 50 ถึง 100 เฟรมต่อวินาที แต่ Habitat นั้นสามารถรันได้ที่ 10,000 เฟรมต่อวินาที ทำให้เร่งความเร็วการฝึก AI ได้อีกด้วย
Habitat เองไม่ใช่ตัวบ้านจำลอง แต่เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับสภาพแวดล้อมเสมือนจริงได้ ซึ่งรองรับชุดข้อมูลสามมิติได้หลากหลาย เช่น MatterPort3D, Gibson และ SUNCG แต่การทำให้สมจริงนั้น Facebook Reality Labs ได้สร้างฐานข้อมูลสำหรับแพลตฟอร์มนี้ชื่อว่า Replica ซึ่งเป็นชุดภาพถ่ายห้องจริงที่สร้างมาจากการผสมผสานรูปถ่ายและการทำแผนที่เชิงลึกของบ้านจริง โมดูลสามมิติของห้องต่างๆ อาจนำมาต่อกันในรูปแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการฝึกสำหรับ AI โดยทั้ง Habitat และ Replica เปิดให้นักวิจัยดาวน์โหลดได้บน Github แล้ว
โลกใน Habitat เป็นเพียงภาพเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า AI จะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในบ้านจำลองได้ ระบบอาจจะเรียนรู้วิธีการเคลื่อนย้ายจากห้องนอนไปห้องครัวได้ แต่จะหยิบช้อนไม่ได้ เป็นต้น การขาดความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างถือเป็นข้อจำกัดสำหรับแพลตฟอร์มนี้ แต่ทีมนักวิจัยก็กำลังหาวิธีเพิ่มฟังก์ชั่นอยู่ในเร็วๆ นี้