เซนเซอร์ติดผิวหนังวัดเหงื่อและชีพจรได้แบบไร้สาย

0

เซนเซอร์บนอุปกรณ์สวมใส่ (wearable body sensors) หลายๆ ตัวมักมีปัญหาเดียวกันคือ มันต้องการพลังงานและสายอากาศ ซึ่งอาจทำให้ตัวอุปกรณ์สวมใส่นั้นดูใหญ่เทอะทะไม่เหมาะกับการนำมาสวมใส่ แต่นักวิจัยจาก Stanford ได้พัฒนาระบบที่ขจัดปัญหานั้นไปได้

นักวิจัยจาก Stanford ได้พัฒนา BodyNet เซนเซอร์แปะบนผิวหนังที่รับพลังงานและส่งข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อ RFID ไปยังตัวรับสัญญาณที่ติดบนเสื้อผ้า ทำให้ตัวเซนเซอร์นั้นใส่สบายและยืดหยุ่นเหมือนแปะพลาสเตอร์ปิดแผลบนผิว อุปกรณ์สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในผิวหนังซึ่งช่วยให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจหรือการทำงานของกล้ามเนื้อ

bodynet sticker being stretched
Image credit: Bao lab / Stanford University

ส่วนสายอากาศนั้นนับเป็นความท้าทายหลัก นักวิจัยต้องพิมพ์หมึกพิมพ์สกรีนผิวโลหะลงบนสติกเกอร์ยางเพื่อผลิตสายอากาศขึ้น แต่สัญญาณอาจจะอ่อนลงได้ขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว นักวิจัยจึงต้องพัฒนาระบบ RFID แบบใหม่ที่ส่งสัญญาณได้แม่นยำขึ้นแม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ตัวรับสัญญาณจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และใช้บลูทูธส่งข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์

BodyNet ยังถูกจำกัดการใช้งานให้ตัวสติกเกอร์กับตัวรับสัญญาณต้องอยู่ในระยะใกล้กัน ซึ่งก็พอรับได้สำหรับการใช้งานขั้นต้น เช่น การติดตามภาวะหัวใจและภาวการณ์นอนหลับที่ไม่ปกติ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวอาจยังใช้งานได้ไม่ดีนักขณะกำลังออกกำลังกาย ทีมวิจัยอาจแก้ปัญหานี้โดยการเย็บตัวสายอากาศเข้ากับเสื้อผ้า

ทีมวิจัยก็กำลังพัฒนาสติกเกอร์ที่ใช้เหงื่อวัดอุณหภูมิร่างกายและความเครียด และหวังว่าวันหนึ่งจะพัฒนาเซนเซอร์แบบเต็มตัวที่เก็บข้อมูลได้โดยไม่รบกวนกิจวัตรประจำวัน ซึ่งย่อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงช่วยบรรดานักกีฬาในการติดตามสมรรถภาพของพวกเขาโดยไม่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว

SensorOnForehead BN
Image credit: Bao Lab / Stanford University