มนุษย์ก้าวเข้าใกล้ความฝัน Brain-computer Interface อีกหนึ่งก้าวเล็กๆ เมื่อนักวิจัยพัฒนาระบบ AI ที่สามารถแปลงสัญญาณสมองออกมาเป็นตัวอักษรได้
“Machine translation of cortical activity to text with an encoder–decoder framework” ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา นำเสนอระบบปัญญาประดิษฐ์ที่แปลงตัวอักษรออกมาจากชุดสัญญาณไฟฟ้าของสมอง (electrocorticogram) ได้แม่นยำและในอัตราความเร็วที่เป็นธรรมชาติในการโต้ตอบ
ในการพัฒนาระบบดังกล่าว นักวิจัยศึกษาสัญญาณไฟฟ้าจากสมองของผู้เข้าร่วมวิจัย 4 รายซึ่งได้ติดตั้งตัวรับสัญญาณไฟฟ้าไว้เพื่อป้องกันการชักจากโรคลมบ้าหมู โดยนักวิจัยร้องขอให้ผู้เข้าร่วมอ่านออกเสียงข้อความ 50 ประโยค และเก็บข้อมูลจากสัญญาณไฟฟ้าในสมองที่เกิดในช่วงเวลานั้น
ข้อมูลที่เก็บได้ในรูปแบบตัวเลขนี้นักวิจัยนำไปป้อนให้กับระบบ Machine Learning เพื่อให้อัลกอริทึมได้เรียนรู้แพทเทิร์นในข้อมูลและทำนายจากข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นออกมาเป็นคลื่นเสียง ซึ่งจะถูกนำไปตรวจสอบกับคลื่นเสียงต้นฉบับที่ถูกต้อง จากนั้นเมื่อการทำนายของระบบพัฒนาขึ้น ข้อมูลที่ทำนายก็จะถูกนำไปป้อนกับระบบที่แปลงข้อมูลออกมาเป็นตัวอักษร ทำให้ระบบนี้สามารถเขียนคำออกมาจากสัญญาณของสมองได้
นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังมีการใช้เทคนิค Transfer Learning มาช่วยลดความต้องการข้อมูลเทรนนิ่ง ทำให้สามารถใช้ข้อมูลน้อยลงในการปรับปรุงระบบได้
ผลลัพธ์ของระบบนี้นั้นทำงานได้ดีกว่าระบบคล้ายกันก่อนหน้านี้ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยในผู้ร่วมวิจัยคนหนึ่งระบบมีอัตราการแปลงสัญญาณสมองออกมาเป็นตัวหนังสือผิดพลาดเพียง 3% เท่านั้น อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้ยังขึ้นอยู่กับบุคคล และหากมีการใช้ประโยคที่นอกเหนือไปจากที่ระบบได้เรียนรู้ ผลลัพธ์ก็จะแย่ลงไปอีก
แต่ถึงกระนั้น Dr. Christian Herff ผู้เชี่ยวชาญด้าน Brain-computer Interface จากมหาวิทยาลัย Maastricht ก็ได้ให้ความเห็นว่าผลลัพธ์ของระบบนี้นั้นน่าตื่นเต้น เพราะพัฒนาขึ้นจากข้อมูลการพูดของผู้เข้าร่วมคนละ 40 และประโยคจำกัดเพียง 50 ประโยค แต่กลับสามารถได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่างานวิจัยอื่นที่ใช้ข้อมูล Input มากกว่านี้