โนเกียและ 5G: โอกาสทางธุรกิจ เทคโนโลยี และตัวอย่างการใช้งาน ปูทางสู่ Industry 4.0

0

โนเกียนับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่ และในวันนี้ พวกเขาได้กลายเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครือข่าย 5G ระดับโลก ทีมงาน ADPT.news มีโอกาสได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวและพูดคุยกับคุณ David Oxford ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของโนเกีย ถึงภาพรวมของเทคโนโลยี 5G โอกาสทางธุรกิจ และความเป็นไปของโนเกียในปัจจุบัน และได้สรุปจุดที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้อ่านกันในบทความนี้

5G is Enterprise-centric

คุณ David กล่าวกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงสู่เครือข่าย 3G และ 4G ที่ผ่านมานั้นจะโฟกัสไปที่การใช้งานของผู้ใช้งานทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ 5G ที่มีความเร็วที่เพิ่มขึ้น Latency ที่ลดลง และความเสถียร (Reliability) ที่มากกว่าเครือข่ายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะนำมาซึ่งการขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ซึ่งองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของ 5G และได้รับประโยชน์จากการมาของเครือข่ายไปเต็มๆ

5G จะช่วยให้องค์กรสามารถใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ๆที่ไม่เคยมาก่อนเพราะเครือข่ายในปัจจุบันมีความเร็วและ Bandwidth ไม่เพียงพอ เช่น การวิเคราะห์ภาพวิดีโอแบบ Real-time หรือการสั่งการเครื่องจักรแบบ Real-time โดยโนเกียได้ยกตัวอย่างการนำ 5G ไปใช้งานในปัจจุบันที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การใช้เครือข่าย 5G เชื่อมต่อสื่อระหว่างส่วนงานต่างๆของท่าเรือเพื่อสื่อสารและสร้าง Visibility ของสถานะการทำงานของแต่ละส่วน ทำให้การทำงานมี Timing ที่สอดคล้องลื่นไหล เพิ่มประสิทธิภาพและลดการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
  • การเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์บนอุปกรณ์พลังงาน เช่น กังหันลมและ Grid เข้ากับส่วนควบคุม ช่วยให้สามารถตรวจสอบสถานะได้อย่าง Real-time และสามารถวางแผนการใช้งานพลังงาน รวมถึงสลับไปใช้แหล่งพลังงานอื่นได้ทันท่วงทีหากข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆบ่งชี้ว่าอาจสร้างพลังงานได้ไม่เพียงพอ
  • การใช้เครือข่าย 5G ในการเชื่อมระบบระหว่างสาขาขององค์กรผ่านอุปกรณ์ Gateway ของโนเกีย และการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าผ่านเครือข่าย 5G แบบไร้สาย ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและเช่าใช้สายเคเบิล เช่นในกรณีของ Optus ในประเทศออสเตรเลีย ที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ในสถานการณ์​ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โซลูชัน 5G ก็ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการรักษา โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการนำโซลูชัน 5G ของโนเกียเข้าไปใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์การรักษาและส่วนงานต่างๆภายในสถานพยาบาล ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังอาการและตรวจสอบสถานะของผู้ป่วยได้อย่าง Real-time อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากความเร็วของเครือข่ายในการฝึกอบรมบุคลากรแบบ Remote ด้วย

โนเกีย ผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G แบบ End-to-end รายเดียวของโลก

เราอาจคุ้นเคยกับโนเกียในฐานะผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่โนเกียในปัจจุบันนั้นได้ผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G และเป็นผู้นำของโลกเสียด้วย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โนเกียมีการลงทุนด้าน R&D ไปถึง 129,000 ล้านยูโร และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G การสร้างสรรค์โซลูชันใหม่ๆ และการกำหนดมาตรฐานต่างๆ

ในขณะนี้ โนเกียเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ให้บริการโซลูชัน 5G แบบ End-to-end ซึ่ง Portfolio ของเทคโนโลยี 5G ของโนเกีย มีดังต่อไปนี้

Photo: Nokia
  1. Infrastructure ด้าน 5G เช่นสถานีส่งสัญญาณ
  2. โซลูชันด้าน Distributed Cloud เพื่อความสามารถในการประมวลผล 5G ที่ใกล้กับองค์กรมากที่สุด ทำให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของ 5G ได้เต็มที่
  3. โซลูชันด้านความปลอดภัยของเครือข่ายและอุปกรณ์
  4. โซลูชัน Network Slicing ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถแบ่งเครือข่าย 5G ออกเป็นเครือข่ายย่อยที่มีคุณสมบัติตามที่องค์กรต้องการใช้งาน
  5. โซลูชันด้าน Industrial Automation

จาก 5 ข้อนี้จะเห็นได้ว่า Portfolio ของโนเกียนั้นครบครัน ทั้งสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย องค์กร และภาครัฐ​ ทำให้โนเกียได้ร่วมงานกับเครือข่ายและองค์กรในหลายๆประเทศ โดยปัจจุบันโนเกียมีสัญญาการค้า 5G เชิงพาณิชย์กว่า 90 ฉบับและเป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์ 5G ในเครือข่ายที่กำลังดำเนินการอยู่ 34 แห่งทั่วโลก

5G จะมาถึงอย่างรวดเร็ว และช่วยขับเคลื่อน Industry 4.0

การศึกษาจาก GSMA คาดว่าในช่วงปี 2020 ถึงปี 2025 จะมีการลงทุนที่เกี่ยวกับ 5G ถึง 414,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2025 ร้อยละ 23 ของการใช้งานเครือข่ายทั้งหมดจะมาจาก 5G

แม้ในปัจจุบัน 5G จะยังเป็นสิ่งที่แทบจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเริ่มเปิดให้บริการแล้ว การใช้งานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โนเกียคาดว่าการใช้บริการ 5G ในประเทศไทยจะเริ่มต้ในปี 2021 ที่จะถึงนี้ และในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้ใช้งาน 5G มากกว่า 30 ล้านราย

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า 5G นั้นจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจผ่านความสามารถในการประมวลผล ความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากเพื่อรับข้อมูล และความสามารถในการส่งข้อมูลและคำสั่งอย่างรวดเร็ว Real-time ให้กับธุรกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Industry 4.0 ที่ยังทำได้อย่างไม่เต็มที่ในปัจจุบัน ด้วยความเร็วและ Bandwidth ที่จำกัด

โนเกียเชื่อว่า 5G จะเข้ามาเป็นพื้นฐานสำหรับการเพิ่มขีดจำกัดของการแข่งขันของธุรกิจไทยได้เป็นอย่างดี และไม่เฉพาะในภาคเอกชนเท่านั้น เพราะ 5G ยังเปิดโอกาสให้ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ ระบบสาธารณะ หรือแม้แต่การใช้งานส่วนตัวของผู้บริโภคทั่วไปก็จะเปลี่ยนแปลงไปและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

โนเกียเป็นบริษัทที่ดำเนินการในประเทศไทยมาเป็นเวลานานมากกว่า 30 ปี สนับสนุนและเดินทางผ่านยุคของ 2G, 3G, และ 4G ซึ่งโนเกียก็ได้สนับสนุนและร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆเพื่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเครือข่ายอยู่เสมอ และในการก้าวเข้าสู่ยุค 5G นี้ โนเกียก็ได้มีร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย ภาครัฐ และภาคเอกชนที่ต้องการนำเครือข่าย 5G ไปใช้งาน เพื่อทดลอง ทดสอบ และวางแผนออกแบบปูทางไปสู่ยุคของ 5G