Amazon.com นั้นนับเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลกซึ่งขึ้นชื่อเรื่องระบบการจัดการและจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว โดยในบทความนี้เราจะไปดูกันว่า เบื้องหลังการจัดการโกดังสินค้าของ Amazon นั้นเป็นอย่างไร และใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง
สินค้าจากผู้ขายจะถูกส่งมาโดยรถบรรทุกขนส่งทุกวันตามตารางนัดหมาย เมื่อสินค้าเข้ามาส่ง พนักงานจะทำการคัดแยกสินค้าเหล่านี้ไปจัดเก็บเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและส่งต่อไปยังมือของลูกค้า โดยหลังจากพนักงานพนักงานล็อคอินเริ่มทำงาน หุ่นยนต์ภายในโกดังก็จะเข็นชั้นวางจัดเก็บสินค้ามายัง Workstation ของพนักงาน
ทุกครั้งที่พนักงานจัดเก็บของ พวกเขาจะต้องสแกนบาร์โค้ดเพื่อระบุตัวตนของสินค้านั้นๆลงไปในระบบ ประวัติการจัดเก็บของภายในโกดังจะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลแบบกราฟในบริการ Amazon Neptune ของ AWS
ขั้นตอนการจัดวางของบนชั้นนั้นจะเป็นการจัดวางแบบสุ่มซึ่ง Amazon พบว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสุด โดยเมื่อสแกนบาร์โค้ดเป็นที่เรียบร้อย ระบบ AI และ Computer Vision ก็จะคำนวณว่าช่องวางของใดเต็มแล้ว และส่งสัญญาณไฟสีบานเย็นออกมาเตือนพนักงานไม่ให้วางของลงไปเพิ่มอีก จากนั้นในขณะที่พนักงานนำสินค้าวางลงบนชั้น ระบบ Computer Vision ก็จะทำการสแกนเพื่อบันทึกลงระบบว่าของนั้นถูกวางในตำแหน่งไหน รวมไปถึงนับจำนวนของด้วยว่ามีทั้งหมดกี่ชิ้น
AI ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้คือ AI จากบริการ Amazon Sagemaker ซึ่งมีกลไกในการเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ในกรณีที่ AI ไม่แน่ใจว่าของชิ้นนั้นคืออะไร หรือมีกี่ชิ้น ก็สามารถส่งภาพต่อไปยังพนักงานให้ช่วยระบุให้ และนำข้อมูลนั้นไปพัฒนาตัวเอง
ข้อมูลของสินค้าในคลังทั้งหมดจะถูกเก็บในฐานข้อมูล Amazon Aurora และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งตำแหน่ง และจำนวนแล้ว สินค้านั้นๆก็จะพร้อมให้จำหน่ายแก่ผู้ใช้งาน Amazon ทันที
หุ่นยนต์อัตโนมัติทำหน้าที่รับส่งชั้นวางของในโกดัง
ชั้นวางของภายในโกดังหรือ Fulfilment Center ของ Amazon แล้วโดยทั่วไปกินพื้นที่ราว 65% ของสถานที่ โดยชั้นวางของเหล่านี้สามารถถูกเคลื่อนย้ายไปหาพนักงานเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการได้ด้วยความสามารถของหุ่นยนต์อัตโนมัติซึ่งเคลื่อนที่ด้วยการอ่านบาร์โค้ดที่ติดอยู่บนพื้น และควบคุมตรวจสอบได้ผ่านระบบควบคุมกลาง
เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้า ระบบก็จะสั่งการให้หุ่นยนต์เหล่านี้นำชั้นวางของที่มีสินค้าที่ถูกสั่งไปยัง Workstation ของพนักงาน ที่พนักงานจะสามารถหยิบสินค้าตามคำสั่งซื้อที่จะระบุอยู่ในหน้าจอประจำ Workstation ซึ่งในการหยิบ ระบบ Computer Vision ก็จะช่วยส่องไฟไปยังตำแหน่งที่สินค้าถูกจัดวางอยู่ และเมื่อจัดวางบนถาดเรียบร้อยแล้ว สินค้าก็จะถูกลำเลียงไปบรรจุหีบห่อต่อไป
แม้แต่กล่องก็คำนวณโดย AI
ในการบรรจุใส่กล่องหรือซอง ระบบ Machine Learning จะคำนวณขนาดของกล่องและความยาวของเทปปิดกล่องที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ
และหากสินค้าที่ลูกค้าสั่งนั้นอยู่ในโกดังที่อยู่ห่างออกจากกัน Machine Learning ก็จะวิเคราะห์เส้นทางว่าการส่งของมารวมยังโกดังเดียวกัน หรือแยกกันส่งไปยังบ้านของลูกค้า แบบใดจะทำให้ Amazon สามารถส่งของได้ภายในเวลาที่คาดการณ์ในเว็บไซต์ และในขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด โดยก็เป็นเทคโนโลยี Machine Learning อีกเช่นกันที่จะช่วยคำนวณว่าควรขนส่งผ่านการขนส่งรูปแบบใด
ขั้นตอนสุดท้ายของการบรรจุภัณฑ์คือการแปะสติกเกอร์ที่อยู่ลูกค้า ซึ่งระบบจะทำการสแกนบาร์โค้ดข้างกล่อง และปรินท์ที่อยู่จากฐานข้อมูลออกมาแปะลงบนกล่องทันที
ระบบสายพานและเครื่องจักรต่างๆภายใน Fulfilment Center ของ Amazon นั้นเชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยี IoT ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะการทำงาน และรับรู้ถึงความผิดปกติและแก้ไขได้อย่างรวดเร็วทันท่วงทีอยู่เสมอ
และนี่คือความเป็นไปของหนึ่งในโกดังสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีมากที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่า Amazon นั้นนำเทคโนโลยีบนคลาวด์ AWS ของตนมาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบเลยทีเดียว
รับชมคลิปวิดีโอการทำงานภายใน Fulfilment Center จาก Amazon ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8nKPC-WmLjU