เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอมของน้อง ๆ นักเรียนประถมถึงมัธยม พ่อแม่อาจมีความกังวลใจว่า ลูก ๆ จะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมติดเกมได้ แล้วอย่างนี้ผู้ปกครองจะหันไปพึ่งใครได้บ้าง?
ข่าวดีคือ ตอนนี้ผู้ปกครองไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลก็ปรึกษาปัญหาเด็กติดเกม ร่วมพูดคุยกับแชตบอตบน Line ได้แล้ว ซึ่งแชตบอตตัวนี้มีชื่อว่า “น้องติ๊กต็อก” ที่พัฒนามาจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ BOTNOI บริษัทไทยผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และแชตบอตภาษาไทย ทีมงาน ADPT จึงขอมาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักแชตบอตแมวน้อยตัวนี้กันค่ะ
ทำไมต้องคุยกับน้องติ๊กต็อก?
ด้วยปัญหาเด็กติดเกมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงมาจากการใช้งานหน้าจอเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง COVID-19 ที่ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านได้ ประจวบกับพ่อแม่ผู้ปกครองอาจละเลยปล่อยให้มือถือเป็นพี่เลี้ยงแก่น้อง ๆ เพื่อไม่ให้รบกวนในช่วงที่ตัวเองต้อง WFH แต่หารู้ไม่ว่าในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ การเรียน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของน้อง ๆ ด้วย
หากผู้ปกครองตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยป้องกันมิให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านั้นได้ แต่ปัญหาคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจจะไม่แน่ใจว่าต้องแก้ไขอย่างไร หรือปรึกษาใคร ครั้นจะมุ่งหน้าไปปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ก็จัดสรรเวลานัดหมายยากเสียเหลือเกิน ไม่สะดวกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการปรึกษาด้วย
จุดนี้เองที่ทำให้แชตบอตอย่าง “น้องติ๊กต็อก” เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางการสื่อสารสำหรับผู้ปกครองหรือน้อง ๆ นักเรียนเอง พร้อมให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่มีความกังวลเรื่องการติดเกมค่ะ
น้องติ๊กต็อกที่ไม่เต้น แต่เข้าถึงใจทุกช่วงวัย
“น้องติ๊กต็อก” เป็นแชตบอตผ่าน Line ในโครงการการพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของแชตบอตสำหรับปัญหาการติดเกมในเด็กและวัยรุ่น ที่พร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการติดเกมของบุตรหลาน และพร้อมแนะนำวิธีการรับมือและการเฝ้าระวัง ตอบคำถามเป็นข้อความและให้ข้อมูลแบบ Infographic ฉบับอ่านเข้าใจง่ายให้ด้วย
จุดเด่นของการคุยกับ “น้องติ๊กต็อก” คือ น้องพร้อมแสตนด์บายให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าตอบโจทย์พ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ที่ไม่สะดวกเรื่องการนัดหมายขอรับคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จะคุยนอกเวลาราชการหรือช่วงดึก น้องแมวตัวนี้ก็พร้อมเสมอ หากมองจากทางฝั่งผู้ให้คำปรึกษาแล้ว ก็ถือว่าแชตบอตช่วยแบ่งเบาภาระไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ
ทั้งนี้ ต้องบอกก่อนว่า “น้องติ๊กต็อก” กำลังหัดเรียนรู้ภาษาอยู่ อาจยังไม่สามารถเข้าใจประโยคยาว ๆ แบบที่เราคุยแชตกับคนจริง ๆ ได้ ดังนั้น ภาษาที่เราใช้คุยกับแชตบอตก็ควรเป็นคำถามสั้นและกระชับ เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ตรงกับคำถามค่ะ ถ้าถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยคซับซ้อนไป น้องอาจจะงง ๆ ได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าน้องพร้อมจะเรียนรู้ค่ะ ฉะนั้น ใจเย็นกับน้องแมวหน่อยนะคะ แล้วน้องก็จะค่อย ๆ เก่งขึ้นเองค่ะ
แต่ถ้าผู้ปกครองต้องการขอคำปรึกษาเชิงลึกอย่างจริงจัง เพียงพิมพ์คำว่า “ขอปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “ขอคุยกับทีมจิตวิทยา” หรือกดที่เมนู “พูดคุยกับทีมจิตวิทยา” ก็สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้โดยตรงผ่าน Live Chat ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาในช่วงเวลา 10:00 – 12:00 น. / 13:00 – 16:00 น. และ 18:00 – 22:00 น. ค่ะ (หากนอกเวลา สามารถทิ้งคำถามไว้ได้ หรือกลับไปคุยกับน้องแชตบอตก่อนได้ โดยพิมพ์ว่า “คุยกับบอต” ค่ะ)
ผู้เขียนได้ลองขอรับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาแล้ว (ทีแรกก็แอบเข้าใจว่าเป็นแชตบอต) แต่พอได้ลองพิมพ์เป็นประโยคยาว ๆ แล้ว ก็รู้แล้วว่ากำลังคุยอยู่กับผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ซึ่งในมุมของผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าผู้เชี่ยวชาญเข้าใจถึงปัญหาและพร้อมให้ความช่วยเหลือดีมาก ๆ ค่ะ อยากให้ผู้ปกครองที่ประสบปัญหาลูกติดเกมได้ลองเข้าไปร่วมหาทางออกกับผู้เชี่ยวชาญผ่านแชตบอต “น้องติ๊กต็อก” อีกช่องทางหนึ่งค่ะ
นอกจากการให้ข้อมูลแล้ว “น้องติ๊กต็อก” ยังมีฟีเจอร์แบบทดสอบต่าง ๆ ในรูปแบบ Interactive เพียงกดเลือกที่เมนู “รู้ได้ไงว่าลูกติดเกม!!” ก็จะมีแบบทดสอบให้เลือกทำมากมาย เช่น แบบทดสอบการติดเกม การติดสื่อออนไลน์ การเลี้ยงดู (ฉบับผู้ปกครอง) แบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต เป็นต้น (ในอนาคตอาจมีแบบทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม) ฟีเจอร์นี้จึงเหมาะมากสำหรับทั้งผู้ปกครองและน้อง ๆ วัยเรียนค่ะ
พอเราเลือกแบบทดสอบแล้ว “น้องติ๊กต็อก” ก็จะส่งคำถามมาให้ทีละข้อ ให้เราเลือกตอบตามความจริง เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว ก็จะมีข้อความประเมินผลการทดสอบส่งมาให้ทันทีค่ะ
สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั้น แชตบอต “น้องติ๊กต็อก” ออกตัวเลยว่า จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ที่สามารถระบุตัวตนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงการวิจัยฯ ซึ่งทางโครงการจะไม่นำข้อมูลของท่านเผยแพร่ต่อสาธารณะตาม พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น วางใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวได้เลยว่าจะไม่มีการรั่วไหลหรือเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างแน่นอนค่ะ
Add Line น้องติ๊กต็อก
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้ปกครองคงอยากจะลองคุยปรึกษาเรื่องเด็กติดเกมกับ “น้องติ๊กต็อก” กันแล้ว ขั้นตอนการสมัครใช้งานก็ง่าย ๆ เลยค่ะ เพียง Add Line เป็นเพื่อนกับน้องได้ที่: @healthygamer หรือสแกน QR Code ตามภาพด้านล่างได้เลยค่ะ
โดยสรุปแล้ว แชตบอต “น้องติ๊กต็อก” นับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาการใช้งานแชตบอตที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่งเลย เรียกได้ว่าช่วยแก้ Pain Point ของผู้ปกครองที่มีความกังวลเรื่องบุตรหลานติดเกม และข้อจำกัดของการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจไม่เพียงพอได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ทีมงาน ADPT ขอเป็นกำลังใจให้นักพัฒนาแชตบอต รวมไปถึงทีมนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการดี ๆ เช่นนี้นะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการคำแนะนำด้านแชตบอตและ AI & Data สามารถติดต่อ BOTNOI Group ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- Website: https://botnoigroup.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/botnoigroup
- Email: [email protected]