ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรียกว่าได้เป็นยุคที่ Cloud มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Public Cloud หรือ Private Cloud ที่จะช่วยทำให้องค์กรสามารถพลิกโฉม Digital Transformation ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ยั่งยืนขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันได้ทันกับสภาพการณ์ หากแต่ในปัจจุบัน เทรนด์การใช้งานในลักษณะ Multi-cloud เริ่มมีมากยิ่งขึ้น อะไรคือปัจจัยที่ควรพิจารณาเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น?
แม้ว่า Cloud จะเป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จในหลาย ๆ องค์กร แต่บอกได้เลยว่าการจะไปถึงจุดนั้นได้นั้น Journey ระหว่างทางอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งหากใครมีประสบการณ์ที่อยากจะ Migrate ระบบไป Public Cloud ก็คงจะเข้าใจได้เลยว่ามันซับซ้อนกว่าที่คิด ทั้งเรื่องจำนวนผู้ให้บริการ Cloud ที่มีอยู่มากมาย เทคโนโลยีที่จะต้อง Migrate และปรับเปลี่ยนวิธีใช้ ฐานข้อมูลที่ต้องย้าย ต้นทุนที่ต้องลงทุน บุคคลากรที่ต้องทำการ Reskill เป็นต้น
โดยทาง Gartner ได้ให้แนวทางกลยุทธ์ในการทำ Cloud Migration ไว้ในลักษณะ 5R ได้แก่ Rehost, Refactor, Rearchitect, Rebuild และ Replace ซึ่งแต่ละกลยุทธก็จะขึ้นกับความซับซ้อนของระบบงานที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน และถ้าหากซับซ้อนมากเกินจนควรจะ Replace หรือแทนที่ระบบเดิมทั้งหมดเลย งบประมาณที่ใช้ก็อาจสูงเกินไป
ด้วยปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้เทรนด์การใช้งาน Multi-cloud ที่ใช้งาน Cloud มากกว่า 1 แห่งเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ซึ่งแบบสำรวจจากทาง Gartner ก็พบว่า 75% ขององค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ได้ย้ายมาใช้งาน Hybrid Cloud หรือ Multi-cloud แทนการใช้ Public Cloud เพียงเจ้าเดียวแล้ว
แม้ว่าการใช้ Multi-cloud จะช่วยลดความซับซ้อนและปัญหาต่าง ๆ ลงไปได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายในรูปแบบอื่นอีกอยู่ดี เช่น Cloud Provider แต่ละเจ้าจะต้องใช้ทักษะแตกต่างกันไป ส่งผลต่อเรื่องความสามารถของบุคคลากรที่ต้องใช้ในการดูแล Cloud แต่ละแห่ง จนอาจถึงขั้นต้องจัดสร้างทีมงานใหม่หมดเลยได้ เป็นต้น
สิ่งต่าง ๆ มากมายเหล่านี้คือเรื่องที่ต้องพิจารณาก่อนมาปรับใช้เป็น Multi-cloud ด้วยเหตุนี้ คุณทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี Country Manager แห่ง Nutanix (Thailand) จึงได้แนะนำแนวทางการหาสมดุลในการใช้งาน Multi-cloud ไว้ในงาน TechTalk Thai Virtual Summit Enterprise Tech & Innovation 2022 โดยปัจจัยที่ควรจะต้องหาให้เจอเพื่อสร้างสมดุลในโลกยุค Multi-cloud ให้ได้ก่อน นั่นคือ “Business Outcome ว่าปลายทางของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ของธุรกิจนั้นต้องการอะไร” ซึ่ง 4 ส่วนที่ควรจะต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้
- Reduce Waste สามารถลดความสิ้นเปลืองลงไปได้หรือไม่
- Reduce Adoption Effort สามารถลดภาระงานต่าง ๆ ลงไปได้หรือไม่
- Improve Time to Adopt สามารถลดเวลาลงไปได้หรือไม่
- Optimise Management สามารถลดความซับซ้อนให้น้อยลงไปได้หรือไม่
นอกจากนี้ สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปคือการเลือกใช้งาน Cloud ประเภทใดนั้นจำต้องพิจารณาลักษณะงานนั้น ๆ ว่าต้องการ Performance, Security, Compliance หรือ Cost มากกว่ากัน เช่น บางงานที่ต้องการ Performance ให้ผู้ใช้งานได้รับความเร็วสูงสุด ก็ควรใช้ Public Cloud เป็นหลักมากกว่าการใช้งาน Private Cloud เป็นต้น จากนั้น ต้องพิจารณาเรื่องบุคลากรในการจัดการ Cloud แต่ละแห่ง โดยอาจ Upskill ทีมงานดั้งเดิม หรือสร้างทีมงานใหม่เพื่อแยกทีมดูแล Public Cloud กับ On Premise Cloud ที่ให้ทีมงานดั้งเดิมดูแลต่อไป เป็นต้น
หลังจากเลือกใช้งาน Cloud ต่าง ๆ และจัดการทีมงานได้อย่างเหมาะสมแล้ว การทำให้ผู้ดูแลระบบ Multi-cloud มีความสามารถในการมองเห็นภาพรวมทั้งหมดหรือ Visibility พร้อมกับเครื่องมือ Automation Tool ที่ช่วยจัดการ Cloud ต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนนั้นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาเช่นกัน ซึ่งควรจะต้องจัดหาโซลูชันเพื่อทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการ Multi-cloud ทั้งหมดนั้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน
จากทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้การใช้งาน Multi-cloud จะลดความซับซ้อนลงไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ทำให้เกิดความท้าทายในรูปแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป หากแต่ถ้าพิจารณา Business Outcome และบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว การหาสมดุลในการใช้งาน Multi-cloud คงจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นได้อย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ท่านผู้อ่านสามารถรับชมวิดีโอย้อนหลังการบรรยายในหัวข้อ “ก้าวสู่ยุค Multi-cloud: ทำอย่างไรเพื่อสร้างสมดุลระหว่าง Private และ Public Cloud ในองค์กร” โดยคุณทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี Country Manager แห่ง Nutanix (Thailand) จากงานสัมมนา TechTalkThai Virtual Summit: Enterprise Tech and Innovation 2022 ได้ที่นี่