ถ้าไม่มาทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ก็ออกไป – Remote และ Hybrid Work ในยุคหลังโควิด

0

ช่วงกลางปี 2022 นี้นับเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกและผู้คนก็มีความพร้อมรับมือกับโรคระบาดมากขึ้นจนอาจกล่าวได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงหลังโควิด (Post-covid) อย่างแท้จริง องค์กรจำนวนมากทั่วโลกเริ่มกลับไปดำเนินการเป็นปกติและเรียกตัวพนักงานให้กลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานกันมากขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานถึงอีเมลจาก Elon Musk แห่ง Tesla ที่ออกประกาศให้พนักงานทุกคนเข้ามาทำงานที่บริษัทอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก่อให้เกิดบทสนทนากันอย่างกว้างขวางในโลกอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราต้องมานั่งทบทวนกันอีกครั้งถึงรูปแบบการทำงานในอนาคต

ถ้าไม่มา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราจะถือซะว่าพวกคุณลาออกไปแล้ว

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม Elon Musk – CEO ของ Tesla ส่งอีเมลสองฉบับไปยังผู้บริหารและพนักงานทุกคนของ Tesla โดยอีเมลฉบับแรกมีหัวข้อที่สรุปใจความที่มัสก์ต้องการบอกกับพนักงานได้เป็นอย่างดี “การทำงานแบบ Remote ไม่ใช่เรื่องที่รับได้อีกต่อไป”

อีเมลฉบับแรกกล่าวถึงการให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ Tesla ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตัวเองเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ “หรือออกจาก Tesla ไป” ซึ่งมัสก์กล่าวว่าเป็นจำนวนชั่วโมงที่น้อยกว่าพนักงานในโรงงาน และหากมีกรณีขอยกเว้นเขาจะเป็นผู้ตรวจสอบคำร้องด้วยตัวเอง

ด้านอีเมลฉบับที่สอง Elon Musk กล่าวย้ำว่าพนักงานทุกคนของ Tesla ที่ต้องเข้าออฟฟิศที่เพื่อนร่วมงานทำงานกันอยู่อย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหากไม่มาก็จะขออนุมานว่าได้ลาออกไปแล้ว โดย Musk ได้พูดว่าเมื่อตำแหน่งสูงขึ้นก็ต้องอยู่ในสถานที่ทำงานมากขึ้น นั่นคือเหตุผลที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในโรงงานของ Tesla และหากเขาไม่ทำอย่างนั้น Tesla ก็อาจล้มละลายไปนานแล้ว

“แน่นอนว่ามีบริษัทหลายแห่งที่ไม่ต้องการ[ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ]เช่นนี้ แต่ครั้งล่าสุดที่พวกเขาออกสินค้าใหม่ที่ยอดเยี่ยมนั่นมันเมื่อไหร่? สักพักหนึ่งแล้ว

Tesla ได้สร้างและจะสร้างและผลิตสินค้าที่น่าตื่นเต้นและมีความหมายกว่าบริษัทอื่นๆในโลก สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นด้วยการทำงานแบบขอไปที”

และคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกล่าวถึงบริษัทอื่นๆและพูดถึงการทำงานแบบ Remote ว่าการทำงานแบบขอไปทีนั้นจะก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทำงานในออฟฟิศ vs ทำงานที่บ้าน – การทำงานหลังโควิดที่ยังไม่มีข้อสรุป

การระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ทั่วโลกต้องหยุดชะงักนั้นจุดประกายการทำงานแบบ Remote Work เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามการทำงานจากที่อื่นนั้นเป็นเพียงการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ ในขณะที่พนักงานจำนวนมากได้สัมผัสกับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและมีอิสระมากขึ้น เมื่อวิกฤตโรคระบาดคลี่คลายลงเราจึงได้เห็นการต่อสู้ของทัศนคติสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน

ข้อมูลจากกรมสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกาชี้ว่าในปี 2022 สัดส่วนการทำงานแบบ Remote Work ของแรงงานนั้นลดลงมาที่ 7.7% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมากเริ่มกลับไปทำงานในออฟฟิศเช่นเดิมและความคิดเห็นที่ว่าการเจอหน้ากับเพื่อนร่วมงานนั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานที่ขาดไปไม่ได้

อีกฟากหนึ่งของตลาดแรงงาน คือการแสดงความต้องการของแรงงานในกลุ่มผู้ทำงานในออฟฟิศและ Knowledge Worker ในการทำงานแบบ Remote โดยเราได้เห็นรายงานข่าวเช่น การลาออกของผู้อำนวยการฝ่าย Machine Learning จาก Apple โดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งคือข้อจำกัดด้านการทำงานแบบ Remote หรือรายงานความไม่พอใจของพนักงาน Goldman Sachs และ JPMorgan ต่อนโยบายการทำงานในออฟฟิศ

ในบางอุตสาหกรรมที่มีอัตราการย้ายงานสูง เช่นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี ความยืดหยุ่นของการทำงานแบบ Remote นั้นอาจกลายมาเป็นปัจจัยตัดสินใจในการเข้าร่วมงานกับองค์กรเลยทีเดียว

Remote และ Hybrid Work – ทำได้จริงในระยะสั้น ท้าทายกว่ามากในระยะยาว

ผลการสำรวจโดย Deloitte เผยว่ากว่า 80% ของพนักงานผู้ร่วมตอบแบบสอบถามต้องการทำงานในรูปแบบผสมผสานการทำงานที่บ้านและที่ทำงานมากกว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นหลัก สอดคล้องกับงานศึกษาจาก McKinsey ที่พนักงานราว 85% ชื่นชอบการทำงานแบบ Hybrid มากกว่า หลายองค์กรทั่วโลกพยายามปรับรูปแบบการทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานและลดอัตราการลาออกซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของช่วงโควิดลง ทว่าการจะปรับมาทำงานแบบ Remote และ Hybrid ให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการวางแผน การลงทุน และความร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร

การเตรียมองค์กรให้พร้อมกับการทำงานแบบ Hybrid นั้นต้องมีการเตรียมการในหลายด้าน ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสำนักต่างก็มีคำแนะนำที่น่าสนใจต่างกันออกไป แต่สิ่งที่องค์กรต้องเตรียมการนั้นมักประกอบไปด้วยหัวข้อเหล่านี้

  1. นโยบาย กลยุทธ์ และแรงผลักดันจากฝ่ายบริหาร – ฝ่ายบริหารต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการปรับองค์กรเข้าสู่การทำงานแบบ Hybrid Work วางกลยุทธ์การปรับตัวให้สอดคล้องกับกลยุทธ์อื่นๆและแผนการดำเนินงานขององค์กร จัดสรรงบประมาณ และวางนโยบายเกี่ยวกับ Hybrid Work ที่ชัดเจน รวมไปถึงตั้ง KPI และปรับระบบต่างๆในองค์กรให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงาน
  2. เครื่องมือและสถานที่ – Hybrid Work จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือในการทำงานมากขึ้นทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ องค์กรจะต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร เครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานดำเนินการต่างๆ (เช่น ตรวจสอบสถานะของงาน ให้บริการลูกค้า) จากภายนอกได้ นอกจากนี้รูปแบบการเข้าใช้สถานที่ทำงานและการประชุมก็จะเปลี่ยนไป เช่น โต๊ะทำงานส่วนตัวอาจต้องเปลี่ยนเป็นโต๊ะทำงานรวม ห้องประชุมต้องรองรับการประชุมออนไลน์ได้ดีด้วย เป็นต้น
  3. รูปแบบการสื่อสาร – การสื่อสารเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดสำหรับการทำงานนอกสถานที่ ในทีมทำงานจะต้องมีมาตรฐานของการสื่อสารร่วมกันที่เหมาะกับความรับผิดชอบและเนื้อหางาน องค์กรจะต้องใส่ใจในขั้นตอนการใช้ระบบสนทนา อีเมล ประชุม และกิจกรรมอื่นๆมากขึ้นเพื่อรักษาประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็ไม่รุกล้ำสมาธิและเวลาทำงานของพนักงานมากเกินไป
  4. บริหารจัดการคน – การทำงานต่างสถานที่นั้นลดความใกล้ชิด ปฏิสัมพันธ์ และ Connection ระหว่างเพื่อนร่วมงานลง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการทำงานเป็นทีมและการสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร และยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของผู้ทำงานและ Employee Experiece โดยรวมด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานข้อมูลและการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของการทำงานนอกสถานที่ เช่น การทำงานนอกสถานที่นั้นอาจส่งผลกระทบทางลบกับ Productivity ระยะยาว ทำให้พนักงานใช้เวลามากขึ้นกับงาน หรือสร้างความเหนื่อยล้าจากการประชุมที่มากเกินไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการปรับมาทำงาน Remote ภายใต้สถานการณ์บังคับของโควิด 19 นั้นแม้จะทำงานได้จริงแต่ก็ไม่ใช่นโยบายที่ยั่งยืน การทำงานนอกสถานที่ทั้งเต็มเวลาและผสมผสานนั้นต้องมีแบบแผนที่ชัดเจนที่เกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติของแต่ละองค์กรและมุมมองของพนักงานเป็นอย่างดี


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Hybrid Work
  • Hybridized – If the future of work is hybrid, why do so many companies lack a vision for hybrid work? – McKinsey & Co
  • 5 Challenges of Hybrid Work — and How to Overcome Them – HBR
  • 4 Modes of Collaboration Are Key to Success in Hybrid Work – Gartner
  • The future of work: A hybrid work model – Accenture
  • 30 Essential Hybrid Work Statistics [2022] – Zippia