Autodesk เผยแนวทาง Digital Transformation สำหรับธุรกิจโรงงานการผลิตและการออกแบบเชิงวิศวกรรม ชี้ Generative Design มาแรงในฐานะ AI ผู้ช่วยออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

0

ในงานจัดแสดงเทคโนโลยี Future Mobility Asia 2022 ณ BITEC Bangna ทาง Autodesk ได้จัดแสดงนวัตกรรมใหม่ด้านการออกแบบวิศวกรรมสำหรับยานยนต์ละเครื่องจักร พร้อมขึ้นเวทีให้ผู้บริหารได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของงานออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยเล่าสรุปถึง 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

  • การทำ Digital Transformation เพื่อตอบโจทย์สำหรับการทำงานด้านการออกแบบวิศวกรรมในธุรกิจโรงงานและการผลิต
  • การใช้งานจริงที่เกิดขึ้นของ Generative Design ที่ได้กลายเป็นอีกหัวใจหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการออกแบบทุกวันนี้

ในบทความนี้ทีมงาน TechTalkThai และ ADPT.news ขอสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจจากการเข้าร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ดังนี้ครับ

Connected Process: ก้าวแรกของการทำ Digital Transformation สำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตที่ต้องมีการออกแบบด้วยตนเอง

Autodesk ระบุว่าในอดีตที่ผ่านมา งานด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรมนั้นมักจะเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากการออกแบบชิ้นส่วนของเครื่องจักรหรือยานยนตร์นั้นมักจะเป็นงานที่ซับซ้อน มีความลับทางธุรกิจ อีกทั้งยังต้องมีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายออกแบบ ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายซ่อมบำรุงภายในบริษัท รวมถึงในหลายกรณีก็ต้องมีลูกค้าและคู่ค้าเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

เหตุนี้เองที่ทำให้การสื่อสารสำหรับงานนี้มีความยากลำบาก เพราะการใช้ไฟล์ออกแบบ 3D เป็นแกนกลางในการสื่อสารที่ต้องมีการรับส่งไฟล์ระหว่างกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากนั้น มักเกิดความสับสนและล่าช้าในการทำงาน อีกทั้งยังอาจเกิดกรณีที่แต่ละฝ่ายได้รับไฟล์ที่ไม่เหมือนกันในการพูดคุยแต่ละครั้ง ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน และสะท้อนไปยังต้นทุนที่สูงขึ้นหรือเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินกระบวนการต่างๆ ที่นานขึ้น

ด้วยเหตุนี้ Autodesk จึงได้สรุปถึงหนึ่งในแนวทางการทำ Digital Transformation ที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ซึ่งก็คือ Connected Process ด้วยการใช้ Platform กลางระบบเดียวสำหรับรองรับทุกการสื่อสารทำงานของทุกๆ แผนกทั้งภายในและภายนอกองค์กร พร้อมยกตัวอย่างของธุรกิจทั่วโลกที่ได้นำแนวทางเหล่านี้ไปใช้และสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับธุรกิจ ดังนี้

1. Mass Customization การผลิตโดยสามารถรองรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเฉพาะเจาะจงตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละราย แทนการผลิตของแบบเดียวกันซ้ำๆ จำนวนมากอย่างในอดีตได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและง่ายดายยิ่งขึ้น

  • Briggs Automotive ใช้ Generative Design ให้ AI ออกแบบและสร้างล้อที่มีน้ำหนักเบาลง 35% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า
  • Pix Moving ใช้ Generative and Parametric Design โดยใช้ Industrial Robot, 3D Printing, AI ทำให้สามารถออกแบบรถที่มีส่วนประกอบน้อยลง 90% ลดความซับซ้อนในการผลิตและดูแลรักษารถได้ โดยใช้ 3D Printing ในการพิมพ์โครงของรถที่ยากต่อการผลิตด้วยเครื่องจักรแบบดั้งเดิมออกมาได้สำเร็จ

2. Digital Collaboration เปลี่ยนการสื่อสารเบื้องหลังธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสื่อสารงานทั้งหมดผ่าน Platform กลางร่วมกัน

  • Porche สามารถใช้ไฟล์เดียวกันในการสื่อสารกับทุกแผนกและอัปเดตอย่างต่อเนื่องได้จากส่วนกลาง ทำให้ทั้งภายในและ Supplier ภายนอกเห็นข้อมูลเดียวกันทั้งหมด ทำงานได้ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น
  • Benson Industries ใช้ระบบในการสื่อสารระหว่างทีม ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการออกแบบลงได้ 50% และลดความผิดพลาดลงได้ 40%

3. Flexible Manufacturing ปรับการผลิตให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

  • Magna Steyr สร้าง Digital Factory โดยใช้หุ่นยนต์ 40 ตัวขึ้นโรงงานใน 3 สัปดาห์ จากการออกแบบระบบทั้งหมดบน Computer ก่อน และปรับปรุงจนแบบทั้งหมดเรียบร้อย แล้วจึงทำการนำหุ่นยนต์มาติดตั้งในโรงงานตามที่ออกแบบไว้ ทำให้กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้แล้วเสร็จในเวลาอันสั้น
  • MJK Performance ลดเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนแบบจาก Prototype จนไปถึง Production จากเดิมที่เคยต้องใช้เวลา 2 วัน เหลือเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น และใช้ AI มาช่วยออกแบบ ลดน้ำหนักของชิ้นส่วนที่ผลิตลงได้ 23%

4. Customer Experience ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ทั้งสำหรับพนักงานภายในและลูกค้าในการทำงานด้านการออกแบบร่วมกัน

  • KIA Europe ใช้ VR ทำ Collaborative Design ทั่วโลก ทำให้ทุกทีมที่อยู่ไกลกันเห็นภาพเดียวกัน ทำงานร่วมกันได้ ช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ เร็วขึ้น
  • GEA ลดเวลาในการทำ Engineering ลงได้ 30-80% ทำให้สามารถปรับแต่งการออกแบบโรงงานให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วขึ้น แม่นขึ้น ด้วยการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเห็นภาพของการออกแบบร่วมกัน

5. Smart Services ทำ Servitization เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจจากการให้บริการเสริมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้นมา โดยมี Platform บน Cloud รองรับการทำงานเหล่านี้

  • Dormakaba เปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านระบบล็อคประตูสู่การเป็น Solution Provider นำเสนอโซลูชันจัดการระบบล็อคภายในอาคาร เอาเทคโนโลยีของเจ้านี้ไปใช้พัฒนาโซลูชันให้กับลูกค้าของตนเองได้
  • Odico ต้องการให้พนักงานหน้าสายการผลิตเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการและควบคุมสายการผลิต การอบรมเป็นไปได้ง่ายภายในเวลาเพียง 15 นาทีจากการที่ระบบมีความ User Friendly สูง

ทั้งนี้ Autodesk ก็มีโซลูชันสำหรับ Connected Process ในรูปแบบของ Platform ที่สามารถเปิดให้ทุกแผนกภายในองค์กรไปจนถึงคู่ค้าและลูกค้าเข้ามาทำงานร่วมกันได้ ช่วยลดความสับสนในการสื่อสาร เพิ่มความเร็วในการทำงาน และสร้างโอกาสที่จะทำให้เกิดยอดขายหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้นนั่นเอง

Generative Design: อนาคตแห่งการออกแบบและการผลิต ด้วยพลังจาก AI

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือเรื่องของ Generative Design ที่ใช้ AI มาช่วยออกแบบชิ้นส่วนของเครื่องจักรหรือยานยนต์ โดยผู้ใช้งานเพียงแค่ทำการระบุผลลัพธ์ของการออกแบบที่ต้องการ และใส่ข้อกำหนดด้านต่างๆ ในเชิงวิศวกรรมและการผลิตลงไปเท่านั้น จากนั้นระบบก็จะนำโจทย์นี้ขึ้นไปประมวลผลบน Cloud และนำแนวทางการออกแบบที่เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบมาให้เหล่าวิศวกรได้เลือกก่อนนำไปผลิตและใช้งานจริง

ข้อดีของการทำ Generative Design ที่เหนือกว่าการออกแบบชิ้นงานโดยมนุษย์ มีดังนี้

  1. การทำงานเกิดขึ้นได้รวดเร็วและมีทางเลือกหลายทาง เนื่องจากระบบ AI นั้นจะทำงานแบบ Parallel คู่ขนาน จำลองการออกแบบที่เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบมาทำการทดสอบปรับแต่งอย่างต่อเนื่อง และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วยความเร็วตามทรัพยากรบนระบบ Cloud ที่เลือกใช้งาน ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจได้ผลลัพธ์การออกแบบที่หลากหลายในเวลาไม่นาน
  2. การออกแบบที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ อย่างในอดีต ไม่ยึดติดกับประสบการณ์ของบุคคลากรในองค์กร ทำให้เกิดการออกแบบในรูปแบบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เหล่าวิศวกรอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อนได้

อย่างไรก็ดี งานออกแบบจากระบบ Generative Design นี้มักจะได้ผลลัพธ์ที่ยากต่อการนำมาผลิตจริงด้วยเครื่องจักรหรือวัตถุดิบที่โรงงานมักใช้งาน ดังนั้น วิศวกรที่จะใช้ Generative Design นี้ควรต้องคำนึงถึงประเด็นด้านการผลิตและวัตถุดิบแต่แรก และนำข้อจำกัดต่างๆ ในการผลิตป้อนเข้าไปในระบบเพื่อให้ Generative Design ทำงานตามขอบเขตที่เป็นไปได้ อีกทั้งการนำ 3D Printer มาใช้เพื่อพิมพ์ชิ้นงานที่ถูกออกแบบมาโดย Generative Design นี้ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำงานทุกวันนี้ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของเครื่องจักรการผลิตแบบดั้งเดิมนั่นเอง

สำหรับในประเทศไทย การใช้งาน Generative Design นั้นก็เริ่มมีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในหลากหลายธุรกิจ เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ทุกวันนี้องค์ความรู้ด้านการทำ Generative Design และ 3D Printer ในเชิงอุตสาหกรรมของไทยนั้นเริ่มมีการพัฒนากันอย่างจริงจังแล้ว

ในมุมของ Autodesk เอง ความสามารถในการทำ Generative Design นี้เป็นสิ่งที่ถูกรวมอยู่ใน Software ออกแบบหลายๆ รายการอยู่แล้ว รวมถึง Autodesk Fusion 360 ด้วย เพียงแต่ต้องมีการเปิดใช้ด้วยการทำ Subscription และเช่าใช้ทรัพยากรบน Cloud ให้เหมาะสมต่อความต้องการ ดังนั้นวิศวกรที่ต้องการเริ่มต้นใช้งาน Generative Design นั้นก็สามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก ต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่เคยมีในการใช้งาน Software สำหรับการออกแบบได้เลย โดยจุดสำคัญคือต้องทำการตั้งโจทย์เพื่อให้ AI นำไปประมวลผลให้ดี ครอบคลุมต่อผลลัพธ์ทั้งในเชิงของการออกแบบและการผลิตให้ครบถ้วนเท่านั้น