งานวิจัยชี้ชัด ชั่วโมงบินในองค์กรของพนักงานส่งผลต่อผลการดำเนินธุรกิจ

0

อายุเฉลี่ยของประชากรที่มากขึ้นและการก้าวเข้าสู่ Ageing Society ของหลายประเทศทั่วโลกนั้นจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในอนาคต สิ่งหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกัน คือปัญหาของแรงงานในตลาด และการสร้าง Productivity เมื่ออายุเฉลี่ยของผู้ทำงานสูงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจในปัจจุบันนั้นยังคงให้คุณค่ากับความเยาว์และความสดใหม่ของผู้ทำงานอายุน้อย

บทความนี้ขอชวนผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยฉบับใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่าอายุงานในองค์กรนั้นเกี่ยวข้องกับผลการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ และธุรกิจควรปรับตัวอย่างไรเมื่อรู้ถึงความจริงข้อนี้

งานวิจัย Age, Experience, and Business Performance: A Meta-Analysis of Work Unit-Level Effects ศึกษาข้อมูลการทำงานของพนักงานในองค์กรรวมแล้วราว 12.5 ล้านปีคน (คำนวณจากจำนวนคนในองค์กร x ระยะเวลาที่ทำการศึกษา) จาก 23 องค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเงิน การท่องเที่ยว ค้าปลีก การผลิต การบริการ หรืออื่นๆ โดยแบ่งประสบการณ์ในการทำงานของพนักงานออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ประสบการณ์ในการทำงานทั่วไป และประสบการณ์ในการทำงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับองค์กรนั้นๆ (Tenure)

งานวิจัยฉบับนี้ได้วัดค่าผลการดำเนินธุรกิจใน 3 ปัจจัย ได้แก่ ผลการดำเนินการด้านการเงิน (เช่น รายได้ การเติบโต กำไร) การดำเนินการ (เช่น ความเร็ว อัตราการผิดพลาด) และการตอบสนองของกลุ่มลูกค้า (เช่น อัตราการคงอยู่ของลูกค้า การแนะนำต่อ) จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของพนักงานเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสอง

ผลการเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับผลการดำเนินธุรกิจระหว่างประสบการณ์ในการทำงานทั่วไป และผลการดำเนินธุรกิจกับประสบการณ์ในการทำงานเฉพาะองค์กร ด้วยเทคนิคทางสถิติ พบว่าอายุของพนักงาน (ซึ่งบ่งชี้ถึงประสบการณ์การทำงาน) ไม่ได้มีค่าสหสัมพันธ์ (หรือความสัมพันธ์ – Correlation) กับผลการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ประสบการณ์การทำงานในองค์กรหรือ Tenure นั้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการดำเนินธุรกิจ โดยมีความสัมพันธ์มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์กร

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าการที่องค์กรมีพนักงานที่อยู่กับองค์กรมานานจะสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากกว่าพนักงานโดยเฉลี่ย และ Tenure ของผู้บริหารนั้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการดำเนินการทางการเงิน อีกทั้งการจัดตั้งทีมที่มีสมาชิกภายในทีมช่วงอายุแตกต่างกันนั้นไม่ได้ส่งผลใดต่อผลการดำเนินงาน

แม้จะเป็นเรื่องที่อาจคาดเดาได้จากสามัญสำนึกอยู่แล้ว งานวิจัยฉบับนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสถิติออกมาให้เห็นโดยประจักษ์ ซึ่งคณะนักวิจัยได้กล่าวในบทความผ่านเว็บ Harvard Business Review ว่าข้อสรุปจากงานวิจัยนั้นฝากข้อคิดให้กับธุรกิจไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. การกีดกันทางอายุ (Ageism) เป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในการดำเนินธุรกิจ แม้ธุรกิจหลายรายมักคิดว่าค่าตอบแทนสำหรับพนักงานที่มีอายุมากที่อาจมี Productivity น้อยลงนั้นไม่คุ้มค่า แต่เมื่องานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าอายุงานในองค์กรนั้นส่งผลในทางบวกกับผลการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจจึงควรพิจารณากำจัดอคติข้อนี้ไปจากองค์กร
  2. งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และประโยชน์ของการพิจารณาจ้างงานพนักงานที่มีอายุมากที่มักเรียกกันว่า “วัยเกษียณ” ให้ยังคงทำงานในองค์กรต่อไป ซึ่งธุรกิจสามารถวางแผนถึงรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับพนักงานสูงอายุ เช่น ชั่วโมงงานที่น้อยลง การเปลี่ยนมาจ้างงานแบบ Part-time หรือความยืดหยุ่นด้านเวลาเพื่อปรับให้สามารถรองรับพนักงานอายุมากที่ยังคงสร้างคุณค่าแก่องค์กรได้
  3. งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานแบบดั้งเดิม ซึ่งคือการรับบุคลากรเข้าทำงานและสะสมประสบการณ์ในองค์กรเป็นเวลานานนั้นยังคงสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจได้มาก เมื่อเทียบกับการจ้างฟรีแลนซ์ พนักงานสัญญาจ้าง หรือการจ้างพนักงานภายนอกจากช่องทางอื่น ธุรกิจต้องไม่ลืมคำนึงถึงคุณค่าที่จะได้รับจากประสบการณ์การทำงานภายในองค์กรโดยเฉพาะด้วย

ในปัจจุบันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายนั้นมีผลเป็นอย่างมากต่อการพิจารณาจ้างงานของธุรกิจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ธุรกิจต้องโฟกัสมากกว่าคือคุณค่าที่พนักงานแต่ละรายสามารถสร้างให้กับองค์กรได้ ธุรกิจควรชั่งน้ำหนักระหว่างค่าแรงกับประโยชน์ที่ได้รับจากการจ้างอย่างรอบคอบ และนำประสบการณ์การทำงานในองค์กรเข้าไปเป็นปัจจัยในการพิจารณาถึงประโยชน์ของการจ้างงานแต่ละแบบด้วย

แน่นอนว่าแรงงานใน Gig Economy และ Platform Worker ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าจับตามอง แต่หากธุรกิจพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยปัจจัยทางการเงินเพียงอย่างเดียวก็อาจพลาดคุณค่าที่ซ่อนอยู่ของประสบการณ์เฉพาะองค์กรหรือ Tenure ไปได้

อ่านงานวิจัย Age, Experience, and Business Performance: A Meta-Analysis of Work Unit-Level Effects ฉบับเต็มได้ที่ https://academic.oup.com/workar/article/8/2/208/6574297