“Generative AI (Gen AI)” เทคโนโลยีที่กำลังเป็นกระแสหลักในยุคปัจจุบันนั้น ได้พลิกโฉมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลต่าง ๆ ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ทุกองค์กรล้วนต้องพิจารณาปรับใช้ Gen AI อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากเพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ แล้ว ยังเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
จากงาน TTT Virtual Summit 2024 ในหัวข้อ “Gen AI – ปฐมภูมิเส้นทางสู่อนาคตองค์กรในยุคดิจิทัล” ที่บรรยายโดยคุณโชติวิทย์ จารุวรรณสถิตย์ Advisory Solution Architect & Field CTO แห่ง Dell Technologies เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมานั้น คุณโชติวิทย์ได้มาแบ่งปันมุมมองและแนวทางว่าองค์กรควรจะเริ่มต้นกับเทคโนโลยี Gen AI อย่างไรได้บ้าง ติดตามได้ในบทความนี้
AI กำลังจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน
คุณโชติวิทย์ได้กล่าวถึงบทสนทนาจากงาน World Economic Forum ที่เกิดขึ้นมาล่าสุดว่าผู้นำระดับโลกนั้นกำลังล้วนพุ่งเป้าไปในเรื่อง AI กันแทบทั้งสิ้น โดยหนึ่งในบุคคลที่ยกขึ้นมาพูดถึงในเซสชันคือ CEO แห่ง OpenAI คุณ Sam Altman ที่เรียกว่าเป็นเสียงสำคัญระดับโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “AI คือสิ่งที่นำมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก และผู้คนทั้งโลกกำลังใช้งานอยู่ตอนนี้”
โดยตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ นั่นคือ “ChatGPT” แชทบอท AI ที่มีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังเปิดตัวไม่กี่เดือนและยังคงมีการใช้งานในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ด้วยขีดความสามารถที่เป็นเหมือนผู้ช่วย AI ที่สนับสนุนข้อมูลได้มหาศาล ทำสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้คนทั้งโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ผู้ช่วยค้นหาข้อมูล สรุปเนื้อหา สอนการบ้าน หรือค้นหาไอเดียใหม่ ๆ เป็นต้น
แม้ Gen AI จะมีข้อเสียแต่องค์กรก็ควรต้องพิจารณาปรับใช้แล้ว
ถึงแม้ว่า Gen AI จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Gen AI นั้นยังคงมีข้อเสียหรือข้อกังวลอยู่ไม่น้อย อาทิ เรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่ตอบกลับมา แหล่งที่มา หรือประเด็นสำคัญมาก ๆ อย่างเรื่องอคติ (Bias) ภายในโมเดล AI หรือเรื่องความเสี่ยงในการประกอบอาชีพในอนาคตที่ AI อาจจะมาแย่งงานได้ เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้น ทุกวันนี้ Gen AI ก็ยังคงเป็นสิ่งที่คนบนโลกจำนวนมหาศาลใช้งานกันอยู่ทุกวันและดูจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อพิจารณาจาก Top Strategic Technology Trends for 2024 จากทาง Gartner ก็ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า AI คือหัวใจสำคัญของเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ด้วย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า “AI เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ในอนาคตจะได้เห็นการใช้งาน AI ในทุกหนทุกแห่งบนโลกอย่างแน่นอน
เหตุนี้เอง คุณโชติวิทย์จึงชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจควรจะเริ่มพิจารณานำ AI หรือ Gen AI มาช่วยเสริมผลิตภาพ (Productivity) ได้แล้ว เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ และต่อยอดเป็น Use Case หรือบริการใหม่ออกมา ทั้งนี้ ทิศทางการปรับใช้ Gen AI ก็ควรจะต้องเดินหน้าไปอย่างยั่งยืน (Sustainability) อีกด้วย
แล้วจะนำ Gen AI มาปรับใช้กับองค์กรอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ?
จากข้อมูล Gartner ได้ชี้ให้เห็นว่าภายในปี 2025 นั้น Gen AI จะกลายเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำงานสำหรับองค์กรทั่วโลกถึง 90% ด้วยเหตุนี้ Gartner จึงแนะนำให้องค์กรเตรียมความพร้อมในเรื่อง AI โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
- AI-ready security องค์กรควรปรับตัวให้พร้อมต่อเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของ AI เพื่อป้องกันการใช้ AI ไปในทางที่ผิด เพราะแม้ AI จะมีประโยชน์และศักยภาพมากมาย แต่ก็มีภัยคุกคามตามมาได้ด้วยเช่นกัน
- AI-ready data องค์กรควรเตรียมความพร้อมในข้อมูลสำหรับ AI ให้กลายเป็น Data Fabric ที่พร้อมใช้งาน เพราะการฝึกฝน AI ให้ได้สำเร็จนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพและจำนวนมาก ๆ ซึ่งหลายองค์กรมักเสียเวลาไปกับกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลที่กระจัดกระจายซ้ำซ้อนกันไปมา
- AI principles หลักการในเรื่อง AI ขององค์กรที่ต้องชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรจะทำและจะไม่ทำ ซึ่งควรมีการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และการวัดผลอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องมองว่าการปรับใช้ AI ภายในองค์กรให้ได้อย่างยั่งยืนนั้นเป็น “การเดินทาง (Journey)” ที่ต้องใช้เวลาในการทำให้สำเร็จ
หากองค์กรยังไม่แน่ใจว่าควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร คุณโชติวิทย์แนะนำว่าให้องค์กรลองตรวจสอบประเมินสถานะ (Stage) ปัจจุบันขององค์กรก่อนนั้นอยู่ที่ระดับใดของ AI Maturity Index ตามภาพด้านล่าง และเมื่อรับรู้ได้แล้วว่าองค์กรอยู่จุดใด จึงค่อยเริ่มปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ เพื่อก้าวไปในสถานะที่สูงขึ้นจนถึงระดับ Visionaries ที่ AI คือศูนย์กลางขององค์กร ซึ่ง 2 สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรไปให้ถึงจุดนั้นได้นั้นคือ “โครงสร้างพื้นฐาน” และ “ข้อมูล”
โครงสร้างพื้นฐานไอทีและข้อมูลต้องสอดรับความต้องการของ Gen AI
นอกจากข้อมูลที่ต้องจัดเก็บไว้อย่างพร้อมใช้ในจำนวนเพียงพอแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานไอที (IT Infrastructure) ซึ่งตามข้อมูลจาก IDC ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรทั่วโลกล้วนตื่นตัวในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไอทีสำหรับ Gen AI อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังมีสัดส่วนเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2027 เป็นอย่างน้อย
โดยโครงสร้างพื้นฐานไอทีนั้นจำเป็นต้องพิจารณาทั้งในส่วนอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลและโมเดล Gen AI อันทรงพลังได้อย่างมีประสิทธิภาพที่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน ซึ่งคุณโชติวิทย์ชี้ให้เห็นผลกระทบที่ต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ผลกระทบด้าน Data Management
การปรับใช้ Gen AI ในองค์กรจำเป็นต้องทำให้การเข้าถึงข้อมูลมีความรวดเร็ว ดังนั้น การออกแบบสถาปัตยกรรมในการดำเนินการข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรนั้นควรจะต้องปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้เร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนที่ต้องพิจารณา เช่น
- Data Plane ต้องสามารถกระจาย (Distribute) ที่จัดเก็บข้อมูลได้ ซึ่งอาจจัดเก็บไว้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น Structured Data หรือ Unstructured Data ที่แตกต่างกันในแต่ละที่ ในขณะที่ยังคงสามารถเข้าถึงและนำมารวบรวมเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว
- Data Control Plane ที่องค์กรต้องสามารถกำกับดูแล (Governance) กำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
- Data Analytics Plane โดยองค์กรต้องพิจารณาปรับใช้เครื่องมือที่สามารถใช้งานเพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึก (Insight) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Decision Making Plane ที่สนับสนุนให้องค์กรสามารถดำเนินการตัดสินใจจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้อย่างสะดวก รวมทั้งการนำเอา Gen AI มาปรับใช้ เพื่อค้นหาไอเดียหรือโอกาสใหม่ ๆ ได้
2. ผลกระทบด้าน Container Infrastructure
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับ Workload รูปแบบใหม่ ๆ สำหรับ Gen AI นั้นคืออีกสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI สามารถประมวลผลบนทรัพยากรได้อย่างหลากหลายมากขึ้นแล้ว เช่น บน Kubernetes หรือบน Hybrid Cloud, Multi Cloud สิ่งเหล่านี้คือโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ที่องค์กรควรจะต้องเริ่มปรับใช้ด้วย
3. ผลกระทบด้าน Data Center
เนื่องจาก Gen AI จำเป็นต้องใช้การประมวลผลอย่างมหาศาล ตั้งแต่การ Training โมเดลไปจนถึงการ Inference และนำไปใช้ ดังนั้น Data Center จึงเป็นอีกส่วนที่อาจต้องพิจารณาปรับใช้ GPU ภายใน Data Center ขององค์กรเพิ่มเติม เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างหรือใช้งาน Gen AI ได้แบบก้าวกระโดด
Dell พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน AI ให้กับทุกองค์กร
ทั้งหมดนี้คือมุมมองขององค์กรแห่งอนาคตที่ควรจะต้องพิจารณาปรับใช้ Gen AI ในองค์กร ที่คุณโชติวิทย์แห่ง Dell Technologies ได้มาบอกเล่าในเซสชัน ซึ่ง 2 สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องพิจารณาคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไอทีและข้อมูล เพื่อให้องค์กรมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการจัดเก็บและการประมวลผล เพื่อสร้างสรรค์ใช้งาน Gen AI เพื่อเสริมศักยภาพให้กับองค์กรให้ยังคงอยู่ในการแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต
สุดท้ายนี้ หากองค์กรใดที่กำลังมองหาแนวทางปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวไปสู่ยุค Gen AI ทาง Dell Technologies และ Intel นั้นมีเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสนับสนุนให้องค์กรสามารถเริ่มต้นทรานส์ฟอร์มเป็นองค์กรแห่งอนาคตได้อย่างยืดหยุ่น หรือสนใจผลิตภัณฑ์ โซลูชันใด ๆ ของทาง Dell Technologies สามารถติดต่อได้ทีอีเมล [email protected] หรือโทร 090-949-0823 (คุณวศิน)
รับชมวิดีโอการบรรยายเรื่อง “Gen AI – ปฐมภูมิเส้นทางสู่อนาคตองค์กรในยุคดิจิทัล” บรรยายโดยคุณโชติวิทย์ จารุวรรณสถิตย์ Advisory Solution Architect & Field CTO แห่ง Dell Technologies ในงาน TTT Virtual Summit: Enterprise AI & Tech 2024 ได้ที่นี่