Gartner เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีภาครัฐ ปี 2024

0

Gartner เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีภาครัฐสำหรับปี 2024 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้นำภาครัฐในการส่งมอบบริการพลเมืองที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น และคุ้มค่ายิ่งขึ้น

Gartner แนะนำว่า ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ (Government CIO) ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อเทรนด์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีต่อองค์กรของตน และนำไปปรับใช้เพื่อเสริมความสามารถทางธุรกิจ บรรลุความเป็นผู้นำ และสร้างองค์กรภาครัฐที่พร้อมสำหรับอนาคต

Image credit: Gartner

โดย 5 แนวโน้มเทคโนโลยีภาครัฐสำหรับปี 2024 ที่ Gartner วิเคราะห์นั้น ได้แก่

Adaptive Security

Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2028 การใช้ Multiagent AI ในการตรวจจับภัยคุกคาม และตอบสนองต่อเหตุการณ์จะเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 70% โดยไม่ได้เป็นการแทนที่พนักงาน

AI กำลังสร้างการรักษาความมั่นคงปลอดภัยรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งถือว่าเปิดโอกาสครั้งใหม่ให้กับผู้นำภาครัฐ เพราะโมเดล Adaptive security หรือความมั่นคงปลอดภัยแบบปรับตัวได้ จะช่วยผสานรวมและปรับแต่งเครื่องมือ เทคนิค และบุคลากรด้าน Cybersecurity อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป

Digital Identity Ecosystems

Digital identity หรือ ตัวตนดิจิทัล ของภาครัฐกำลังขยายตัวไปยังระบบนิเวศที่ใหญ่ขึ้น ครอบคลุมการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน หมายเลขประจำตัวประชาชนหรือองค์กรเฉพาะตัว และการตรวจสอบข้อมูลรับรอง เช่น กระเป๋าเงินระบุตัวตนบนสมาร์ตโฟน

Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 ผู้ใช้สมาร์ตโฟนอย่างน้อย 500 ล้านราย จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลที่พัฒนาจากเทคโนโลยี Distributed Ledger สำหรับการยืนยันตัวตนเป็นประจำ

Gartner ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้นำภาครัฐสามารถเสริมสร้างกลยุทธ์การยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลได้ จาก Use cases และความร่วมมือที่ขยายออกจากไซโลของภาคส่วนแบบเดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชน รัฐบาลและธุรกิจ 

อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะกำหนดระบบนิเวศที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยการเน้นย้ำบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้ประสานงาน ผู้สนับสนุน และหน่วยงานกำกับดูแลการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล

AI for Decision Intelligence

Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 หน่วยงานภาครัฐกว่า 70% จะใช้ AI เสริมการตัดสินใจเชิงบริหารของบุคลากร พร้อมกับที่ Machine Learning, Analytics และ Generative AI มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า และผสานรวมกลายเป็นชุดเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ

Gartner ให้คำแนะนำว่า เครื่องมือเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรอบคอบ ดังนั้น CIO ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการนำ AI มาใช้และนโยบายการกำกับดูแลตลอดทั้งองค์กร 

ผู้นำภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ที่บูรณาการนโยบายเหล่านี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่ต้องการ จากนั้นจึงใช้แนวทางการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่านโยบายดังกล่าวจะยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่หลังจากการนำไปดำเนินการจริง

Digital Platform Agility

องค์กรภาครัฐต่างหันมาใช้โซลูชันแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้น เช่น Industry cloud และแพลตฟอร์ม Low-code application ซึ่งช่วยให้หน่วยงานเหล่านี้ปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแก้ไขความเสี่ยงในการให้บริการที่เกิดจากระบบล้าสมัย ตลอดจนปรับขนาดและขยายตัวได้อย่างง่ายดายตามความต้องการการใช้บริการของประชาชน 

โซลูชันแพลตฟอร์มบนคลาวด์ช่วยให้ควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นและใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้นด้วย อีกทั้งยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและทรานส์ฟอร์มกระบวนการธุรกิจในองค์กรภาครัฐ 

โดย Gartner แนะนำให้ CIO ภาครัฐปรับใช้กลยุทธ์ Multi-cloud ในการขยายโอกาสเพื่อประโยชน์สูงสุด และลดความซับซ้อนของการปรับปรุงระบบย่อย ๆ ภายในองค์กรให้ทันสมัย

Programmatic Data Management

การบริหารจัดการข้อมูลเชิงโครงการ (Programmatic data management) เป็นแนวทางที่เป็นระบบและปรับขยายขนาดได้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานภายในองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยแพลตฟอร์มอัตโนมัติและความสามารถในการผสานเทคโนโลยี AI เข้าด้วยกัน สอดคล้องกับที่ผู้นำภาครัฐต่างกำลังส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจและวางแผนมากขึ้น 

โดย Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026  หน่วยงานภาครัฐกว่า 60% จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบอัตโนมัติของกระบวนการธุรกิจ เพิ่มขึ้นจาก 35% เมื่อปี 2022

================

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงาน Top Technology Trends in Government for 2024 ได้ที่นี่

ที่มา: Gartner