งานวิจัยโดย Mahdi Roghanizad แห่ง Western University และ Vanessa K. Bohns ที่ได้ตีพิมพ์ใน Journal of Experimental Social Psychology ได้ค้นพบว่าการพบปะตัวจริงเพื่อทำการขอร้องสิ่งใดๆ นั้น ได้ผลกว่าการส่งอีเมล์ถึง 34 เท่าเลยทีเดียว
ในการทดสอบส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ ชี้ว่าคนส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าการส่งข้อความนั้นได้ผลเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดกับความเป็นจริง ในขณะที่คนส่วนใหญ่นี้เองก็มองว่าการสื่อสารโดยตรงแบบตัวต่อตัวนั้นได้ผลน้อย ซึ่งก็ขัดกับความเป็นจริงอีกเช่นกัน
หนึ่งในการทดลองที่เกิดขึ้นในงานวิจัยนี้ คือให้บุคคลทั่วไป 450 รายตอบแบบสอบถาม โดยครึ่งหนึ่งนั้นได้รับแบบสอบถามทางอีเมล์ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้รับแบบสอบถามด้วยการส่งให้แบบตัวต่อตัว ซึ่งผลก็ชัดเจนว่าการส่งแบบสอบถามให้แบบตัวต่อตัวนั้น ได้รับการตอบกลับแบบเสร็จสมบูรณ์มากกว่า
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะในการส่งคำร้องขอทางอีเมล์นั้น ผู้ส่งจะรู้สึกมั่นใจว่าตัวเองมีความน่าเชื่อถือและเป็นการร้องขอที่ถูกต้องทุกอย่าง แต่ในมุมของผู้รับอีเมล์นั้นกลับดูไม่น่าเชื่อถือ และก็มีความกังวลว่าลิงค์ของแบบสอบถามนั้นดูน่าสงสัย แต่ในทางกลับกันการร้องขอแบบตัวต่อตัวนั้น ผู้ร้องขอกลับรู้สึกว่าตัวเองดูไม่น่าเชื่อถือ ในขณะที่ผู้ถูกร้องขอนั้นกลับรู้สึกว่าน่าเชื่อถือ
HBR ได้สรุปทิ้งท้ายว่าหากองค์กรของคุณใช้การส่งข้อความในการสื่อสารกับลูกค้าหรือคู่ค้าเป็นหลัก ก็อาจลองเปลี่ยนมาสื่อสารแบบตัวต่อตัวกันแทนบ้างก็อาจได้ผลมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือไม่ควรไว้ใจการส่งข้อความในการสื่อสารมากนัก เพราะมันอาจไม่ได้ผลดีอย่างที่คุณคิด
สำหรับงานวิจัยฉบับเต็มนั้นอยู่ที่ http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S002210311630292X สำหรับผู้อ่านท่านที่สนใจก็สามารถตามไปศึกษารายละเอียดได้
อ้างอิง https://hbr.org/2017/04/a-face-to-face-request-is-34-times-more-successful-than-an-email