การจำลองแหล่งน้ำมันเพื่อทำการประเมินความคุ้มค่าในการขุดเจาะนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขุดเจาะน้ำมันในทุกวันนี้ และ IBM ก็ได้ร่วมมือกับ Stone Ridge Technology เพื่อสร้างระบบประมวลผลแบบใหม่ที่ทำงานได้เร็วขึ้นเกินกว่าเดิมเกินกว่า 10 เท่า แต่ใช้ทรัพยากรในการประมวลผลน้อยลงกว่าเดิมนับหมื่นเท่า
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ทาง ExxonMobil ได้ออกมาประกาศถึงความสำเร็จในการทำสถิติด้านการประมวลผลจำลองแหล่งขุดเจาะน้ำมันด้วย Server จำนวน 22,400 เครื่องและ CPU จำนวน 716,800 หน่วย และสามารถประมวลผลข้อมูลขนาด 1,000 ล้านเซลล์ได้เสร็จในเวลา 20 ชั่วโมง แต่ในวันนี้ทาง IBM ได้ทำลายสถิติด้วยการรองรับความสามารถในการจำลองโมเดลขนาด 1,000 ล้านเซลล์ได้ด้วย Server จำนวนเพียง 30 เครื่องเท่านั้น
ในการทำลายสถิติครั้งนี้ IBM ได้ร่วมมือกับ Stone Ridge Technology ผู้พัฒนา ECHELON ซอฟต์แวร์สำหรับจำลองแหล่งปิโตรเลียมโดยเฉพาะ ซึ่งการใช้ IBM Power Systems S822LC for HPC จำนวน 30 เครื่อง ซึ่งติดตั้ง IBM POWER CPU จำนวน 60 ชุด และการ์ด GPU จาก NVIDIA Tesla P100 จำนวน 60 ชุดเท่านั้น ก็สามารถทำการจำลองแหล่งขุดเจาะน้ำมันขนาด 1,000 ล้านเซลล์ได้สำเร็จภายในเวลาเพียง 92 นาที
ความเร็วที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้เกิดขึ้นจากสถาปัตยกรรมของ Server จาก IBM ที่ถูกออกแบบมาให้รองรับต่อการประมวลผลประสิทธิภาพสูงโดยเฉพาะ ร่วมกับชุดโค้ดของ Stone Ridge Technology ที่ถูกปรับแต่งให้รองรับการใช้งาน GPU ในการช่วยประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ก้าวนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากสำหรับวงการพลังงาน ที่จะสามารถลงทุนในระบบประมวลผลในงบประมาณที่ไม่สูงนัก แต่กลับได้ผลลัพธ์เท่ากับการใช้ Supercomputer ในการจำลองแหล่งขุดเจาะน้ำมันก่อนการตัดสินใจลงทุนได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็นการเปิดโลกใหม่ของการประมวลผลประสิทธิภาพสูงเลยก็ไม่ผิดนัก
IBM ระบุถึงตัวเลขว่าระบบประมวลผลชุดนี้ใช้พลังงานเพียง 1 ใน 10 ของระบบเดิม และใช้พื้นที่ติดตั้งเพียง 1 ใน 100 ของระบบเดิม แต่กลับมีประสิทธิภาพสูงขึ้นถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
อ้างอิง http://www-03.ibm.com/press/us/en/pressrelease/52164.wss, http://news.exxonmobil.com/press-release/exxonmobil-sets-record-high-performance-oil-and-gas-reservoir-computing, https://www.top500.org/news/ibm-minsky-cluster-achieves-billion-cell-reservoir-simulation-in-record-time/