Digital Transformation ในธุรกิจสายการบิน: Digital Twins, AI, Cloud และ Drone

0
Credit: ShutterStock.com

ธุรกิจสายการบินนั้นถือเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่กำลังเริ่มมีการปรับตัวมากขึ้นจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ในบทความนี้เรามาลองดูกันว่าบรรดาธุรกิจการบินเหล่านี้เขาทำ Digital Transformation เพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตนกันอย่างไรบ้าง

 

Credit: ShutterStock.com

 

1. Digital Twins กับบทบาทหลักด้านการดูแลรักษาเครื่องบิน

การดูแลรักษาเครื่องบินนั้นถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากของสายการบินในการให้บริการลูกค้าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องจักรเหล่านี้หากยิ่งทำได้เร็วก็จะยิ่งลดความเสี่ยงที่จะต้องขาดทุนลงไป แนวคิดของการทำ Digital Twins จึงกลายเป็นแนวทางที่เหล่าสายการบินและเหล่าผู้ผลิตเครื่องบินนิยมใช้กัน

การทำ Digital Twins นั้นก็คือการติดตามข้อมูลของอุปกรณ์ใดๆ อย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อระบุตัวตนและสถานะของอุปกรณ์นั้นๆ ในโลก IT ซึ่งในกรณีของการดูแลรักษาเครื่องบินนี้ เครื่องจักรแต่ละชิ้นส่วนภายในเครื่องบินจะถูกติดตั้ง Sensor เพื่อรวบรวมข้อมูลการทำงานทั้งหมด และส่งมายังระบบประมวลผลเพื่อตรวจสอบว่ามีเครื่องจักรชิ้นใดทำงานผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ และมีแนวโน้มที่จะเสียหรือเปล่า แล้วให้ฝ่ายซ่อมบำรุงทำการเปลี่ยนหรือซ่อมเครื่องจักรชิ้นนั้นก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นจริง

การทำเช่นนี้จะช่วยให้สายการบินลด Downtime ที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องบินได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารไปด้วยอีกทางหนึ่ง และยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถต่อยอดจากข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีอยู่เหล่านี้ ไปสู่การนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ในอนาคตอีกด้วย

 

2. AI กับการวิเคราะห์ทำนายล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้นของผู้โดยสาร

จากรายงานของ SITA นั้นได้ระบุว่าเกินกว่า 50% ของเหล่าสายการบินนั้นจะเริ่มลงทุนใน Artificial Intelligence หรือ AI และ Cognitive Computing แล้ว โดยหนึ่งในหน้าที่หลักของ AI ในกรณีนี้คือการเป็นผู้ช่วยในการดูแลรักษาเครื่องบินด้วยการทำ Predictive Analytics หรือการวิเคราะห์เชิงทำนายนั่นเอง

การวิเคราะห์เชิงทำนายนี้จะอาศัยข้อมูลจาก Digital Twins ร่วมกับข้อมูลการปฏิบัติงานในแต่ละวันของสายการบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรจะต้องดูแลรักษาเครือ่งจักรอย่างไร, เครื่องจักรใดมีแนวโน้มที่จะเสียบ้าง และการสำรองเครื่องจักรในส่วนต่างๆ ภายในสนามบินแต่ละแห่งควรจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ทำให้สามารถใช้เวลาแก้ปัญหาน้อยลงได้ และลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานลงจากการทำงานที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ด้วยการที่ธุรกิจการบินนั้น เครื่องบินมักจะต้องไปประจำการอยู่ตามสนามบินในพื้นที่ต่างๆ กระจายกันทั่วโลก ดังนั้นการใช้ Cloud เพื่อประมวลผลทางด้าน AI จึงกลายเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะข้อมูลจาก Digital Twins เองนั้นก็สามารถส่งขึ้นไปจัดเก็บบนระบบ Cloud ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้บริการ Cloud ที่มีคุณภาพและมีความทนทานสูงนั้น จะกลายเป็นหัวใจของธุรกิจการบินในอนาคตอย่างแน่นอน

 

3. Cloud ผสาน Mobile เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการ

การทำงานภายในธุรกิจสายการบินนั้นมักไม่ใช่งานที่จะได้อยู่ประจำที่ แต่เป็นงานที่ต้องเดินทางเคลื่อนที่ตลอดเวลาทั้งภายในอาคารโดยสาร และการเดินทางข้ามประเทศ การนำอุปกรณ์ Mobile เข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์หลักที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ในแผนกต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการเลือกใช้บริการ Software-as-a-Service (SaaS) บน Cloud เพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางต่างๆ ในธุรกิจนั้นจึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และจากการสำรวจของ IFS เองก็พบว่ามากกว่า 30% ของผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินมองว่าระบบ Mobile นี้เองที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของการทำ Digital Transformation ในวงการ

 

4. Drone ผู้ช่วยวิศวกรคนใหม่สำหรับสายการบิน

เดิมทีการประเมินความเสียหายของเครื่องบินด้วยสายตานั้น อาจต้องกินเวลามากถึง 6 ชั่วโมงต่อเครื่องเลยทีเดียว แต่การมาของ Drone หรือระบบ Unmanned Aircraft Systems (UAS) นี้ก็อาจจะกลายมาเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะเข้ามาทำหน้าที่บินตรวจสอบเครื่องบินแทนเหล่าวิศวกร ทำให้การตรวจสอบมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และวิศวกรสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้เวลาน้อยลงในการตรวจสอบแต่ละครั้ง และอาจก้าวหน้าไปถึงการให้ระบบ AI ช่วยประเมินภาพถ่ายรอบเครื่องให้โดยอัตโนมัติได้เลยก็เป็นได้ ซึ่งเหล่าวิศวกรก็จะเหลือบทบาทเพียงแค่การตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมด ลดภาระหน้าที่ของงานลงไปได้มหาศาล

อย่างไรก็ดี การใช้ Drone ในเขตสนามบินนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจัดการด้านกฎหมายและความปลอดภัยให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะปัจจุบันการใช้ Drone ในพื้นที่การบินนั้นยังถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว จึงต้องมีกฎระเบียบใหม่ที่รัดกุมครอบคลุมเทคโนโลยีเหล่านี้เสียก่อนจึงนำมาใช้ได้จริง

 

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้มาแทนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายใดในสายการบิน แต่จะกลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานง่ายดายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเสียมากกว่า ดังนั้นผู้ที่ทำงานในวงการนี้ก็อาจต้องเตรียมตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการการทำงานที่เปลี่ยนไปและมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นในอนาคต เสริมจากทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม ให้สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสายการบินไปด้วยพร้อมๆ กัน

สำหรับผู้ที่สนใจรายงานฉบับเต็มจาก IFS สามารถศึกษาได้ที่ http://www.ifsworld.com/corp/sitecore/media-library/assets/2017/08/30/ifs-digital-change-survey-for-commercial-aviation/ ทันที

 

อ้างอิง http://www.aviationtoday.com/2018/01/01/digital-twins-ai-mobile-apps-drones-4-tech-developments-set-hit-commercial-aviation-2018/