เทคโนโลยี automation หรือระบบอัตโนมัตินั้นเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ ลดความผิดพลาด และลดต้นทุนในระยะยาว ทว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการจ้างงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey&Company ได้ศึกษาถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดังกล่าวต่อตลาดแรงงานไทยไว้อย่างน่าสนใจ
Automation จะเข้ามาพลิกโฉมการทำงาน
Automation เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสู่กระบวนการทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบอัตโนมัติในขั้นตอนการทำงาน เช่น การดึงข้อมูล หรือการทำความสะอาดข้อมูล การสร้าง workflow อัตโนมัติ การทำ machine learning เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไปจนถึงการประมวลผลภาษาธรรมชาติ และระบบตอบรับอัตโนมัติที่ช่วยเหลือผู้ใช้ในด้านต่างๆ เช่น ระบบตอบคำถามพนักงาน หรือระบบบริการลูกค้า โดย McKinsey คาดการณ์ว่าเทคโนโลยี automation นี้ช่วยขับเคลื่อน GDP ของโลกให้เติบโตมากขึ้นราวร้อยละ 0.8-1.4 ตอบรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวเพราะขาดแคลนแรงงานเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ และช่วยแก้ปัญหาที่เคยเป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น ประโยชน์ของเทคโนโลยี automation ย่อมเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั่วโลก เนื่องมาจากกว่าร้อยละ 50 ของกิจกรรมการทำงานทั้งหมดในปัจจุบันทั่วโลกนั้น สามารถทำได้โดยระบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงหมายถึงการพลิกโฉมบทบาทของมนุษย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
แรงงานไทยกว่า 6.9 ล้านรายจะต้องเร่งพัฒนาทักษะที่เหมาะสม
จากการศึกษากิจกรรมในการทำงาน เช่น การแนะนำสินค้า การป้อนข้อมูล หรือการพูดคุยกับลูกค้ากว่า 2000 กิจกรรมใน 800 อาชีพในปัจจุบัน McKinsey พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของกิจกรรมเหล่านั้นสามารถถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้ โดยกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ อาชีพที่นำข้อมูลมาสรุป เช่น งานสาย payroll อาชีพที่ทำงานทางกายภาพซ้ำๆ เช่น พนักงานในสายการผลิต และอาชีพที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล เช่น สายงานที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
สำหรับในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี automation มากที่สุด 3 อันดับแรก คืออุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมที่พักและอาหาร และอุตสาหกรรมการขนส่ง โดยคาดการ์ณว่าในปี 2030 จะมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาแทนที่งานต่างๆราวร้อยละ 17 (จากร้อยละ 55 ที่ถูกแทนที่ได้) และแรงงาน 6.9 ล้านรายทั่วประเทศจะต้องปรับตัว เสริมสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนสายงาน
ตำแหน่งงานเก่าถูกลด แต่จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมาก
แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยคือตำแหน่งงานต่างๆจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งในประเทศไทยตำแหน่งที่ถูกแทนที่ได้เหล่านี้นั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 55 ทว่าการแทนที่นั้นไม่ใช่จุดจบของแรงงานมนุษย์ แต่เป็นจุดเปลี่ยนให้แรงงานมนุษย์ย้ายไปทำงานในลักษณะอื่น
จากตำแหน่งงานในปัจจุบัน McKinsey พบว่ามีอาชีพเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เทคโนโลยี automation จะสามารถเข้ามาแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 60) ของอาชีพในตลาดแรงงาน มีกิจกรรมการทำงานที่สามารถถูกแทนที่ได้ร้อยละ 30 การเข้ามาของเทคโนโลยี automation จึงจะลดบทบาทของมนุษย์ในส่วนนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะสร้างความต้องการอาชีพอื่นๆเพิ่มเข้ามาตามลักษณะของสังคมที่จะเปลี่ยยนไปด้วย อาชีพที่ว่าเหล่านี้ก็เช่น อาชีพที่ต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และอาชีพครู เป็นต้น
แล้วธุรกิจควรปรับตัวอย่างไร?
Automation นั้นเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอนในอนาคต ธุรกิจจึงควรเตรียมพร้อมรับมือเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเปิดรับประโยชน์ และลดแรงกระแทกของความเปลี่ยนแปลง โดย McKinsey มีคำแนะนำให้แก่เจ้าของธุรกิจ 4 ข้อดังนี้
1. วางกลยุทธการพัฒนาและว่าจ้างผู้มีความรู้ความสามารถ
การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี automation นั้นต้องการทักษะที่แตกต่างออกไปจากการทำงานในปัจจุบัน ธุรกิจจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะว่าจ้างผู้มีความสามารถที่เกี่ยวข้อง เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือวิศวกรข้อมูล รวมไปถึงการวางกลยุทธพัฒนาบุคคลที่มีอยู่ให้มีทักษะเหล่านั้น ซึ่งมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง หากดูจากแนวโน้มความขาดแคลนบุคลากรในปัจจุบันที่มีอยู่
2. เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะ
บุคลากรที่มีทักษะการทำงานกับเทคโนโลยี automation ในปัจจุบันนั้นยังมีจำนวนน้อยมาก ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องวางรากฐานการผลิตบุคลากรเหล่านี้ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย ในการสร้างหลักสูตร หรือจัดอบรม เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อตลาดแรงงานในยุค automation
3. พัฒนาโครงสร้างดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลภายในองค์กร
ธุรกิจควรเริ่มปูพื้นฐานโครงสร้างที่จะเข้ามาเป็นฐานสำหรับเทคโนโลยี automation เช่นการสร้างระบบข้อมูลภายในองค์กร หรือการเลือกใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
4. ปรับโครงสร้างองค์กรเสียใหม่
การเข้ามาของ automation จะส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคลและองค์กร การปรับรูปแบบขององค์กรให้สามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรอาจต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ที่อาจเกิดขึ้นหลังการพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน หรือการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งจะทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ปรากฏตัวขึ้นอยู่เรื่อยๆได้ดีขึ้น