โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ทำหน้าที่เป็นแกนหลักรองรับบริการสมาร์ทซิตี้
กรุงเทพฯ – 10 พฤศจิกายน 2565 – ซิสโก้ และ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดตัว “PLANET Edge Data Center” โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ต้นแบบสำหรับขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย (Country Digital Acceleration – CDA) ของซิสโก้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมศักยภาพการเชื่อมต่อ และสร้างประสบการณ์ดิจิทัลแบบเน็กซ์เจนให้กับประชาชนผ่านนวัตกรรมสมาร์ทซิตี้ เช่น ระบบไฟส่องสว่างแบบอัจฉริยะตามท้องถนน และระบบเซ็นเซอร์ ฯลฯ
ขณะที่ประเทศไทยกำลังขยายโครงการสมาร์ทซิตี้อย่างต่อเนื่อง โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์จะมอบแพลตฟอร์มที่รวดเร็ว ยืดหยุ่น และประหยัดพลังงานพร้อมความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขับเคลื่อนโซลูชั่นที่ใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศ
นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แพลนเน็ตคอมและซิสโก้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน และเรามีความยินดีในการขยายความร่วมมือดังกล่าวภายใต้โครงการ CDA ของซิสโก้ แพลนเน็ตคอมในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล เรามุ่งพัฒนาโซลูชั่นเพื่อสร้างเมืองดิจิทัลที่สามารถใช้ศักยภาพของ 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และชีวิตที่มีคุณภาพ การที่เราเป็นพาร์ทเนอร์กับซิสโก้ทำให้ธุรกิจและการบริการของเราเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยดีตลอดมา จนถึงวันนี้เราร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศด้วยความชำนาญของเราทั้งคู่ผ่านการพัฒนา ‘PLANET Edge Data Center’ ที่จะนำไปติดตั้งตามหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศภายในปี 2566 โดยใช้เวลาในการติดตั้งที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงซึ่งเป็นจุดเด่นของโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์
ปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้งาน Big Data, IoT และ AI เพิ่มมากขึ้น จึงมีความต้องการระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงมากกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ของเมืองเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลมหาศาลและถูกประมวลผลแบบเรียลไทม์ รวมถึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆและกล้องที่ติดตั้งในตัวเมือง, การทำ Image Processing สำหรับระบบ Face Recognition เพื่อวิเคราะห์และรู้จำใบหน้า หรือระบบอ่านและค้นหาป้ายทะเบียนรถ
โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์นำเสนอรูปแบบของโซลูชั่นดาต้าเซ็นเตอร์แบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาและความท้าทายเหล่านี้ โดยทำงานร่วมกับบริการคลาวด์ที่มีอยู่เพื่อใช้งานด้านข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รองรับการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนเมืองต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลซิตี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของประชาชน
โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์บรรจุความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์ในคอนเทนเนอร์มาตรฐานสำหรับการขนส่ง โดยมีอัตราส่วนประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Power Usage Effectiveness – PUE) อยู่ที่ 1.3 ถึง 1.5 สามารถขนย้ายไปได้เกือบทุกที่ทั่วโลก ทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก มีความยืดหยุ่นของโลเคชั่นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถปรับขนาดของบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ และรองรับการทำภารกิจในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ โดยสามารถใช้งานแทนดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ระดับไฮเปอร์สเกลที่ไม่จำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ฐานราก
นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และพม่า กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางการเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ความร่วมมือระหว่างซิสโก้และแพลนเน็ตคอม ภายใต้ ‘โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย’ (CDA) ของซิสโก้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่เอื้อประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในไทย ‘โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์’ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญบนเส้นทางดิจิทัลของประเทศที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทย และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ชีวิตดิจิทัลที่ก้าวล้ำเราหวังว่าจะได้เห็นเทศบาล อำเภอ หรือเมืองอัจฉริยะมากขึ้นที่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนี้”
‘PLANET Edge Data Center’ ประกอบด้วยโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์จากซิสโก้ และโซลูชั่นสำหรับสมาร์ทซิตี้จากแพลนเน็ตคอมที่พัฒนาและใช้งานแล้วที่อำเภอบ้านฉาง ระยอง ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนา 5G สู่เมืองอัจฉริยะ โซลูชั่นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของซิสโก้สำหรับ ‘PLANET Edge Data Center’ ประกอบด้วย Cisco HyperFlex — Hyper-Converged Infrastructure (HCI), Cloud Operations Platform (Intersight), สวิตช์ Catalyst, Series Integrated Services Routers (ISR), Next-Generation Firewall, DNS Security, Secure Network Analytics (Stealthwatch) ทั้งนี้ ‘PLANET Edge Data Center’ สามารถทำงานร่วมกับบริการคลาวด์ (IaaS) และ Platform as a Services (PaaS) ตามมาตรฐาน TIER III ด้วยฟอร์มแฟคเตอร์แบบบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ นับเป็นดาต้าเซ็นเตอร์สำเร็จรูปขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งและใช้งานได้ทุกที่ โดยสามารถใช้เป็นส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากดาต้าเซ็นเตอร์แบบปกติที่มีอยู่ หรือใช้งานแบบแยกเดี่ยว (standalone) ก็ได้
ข้อดีของโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือดาต้าเซ็นเตอร์แบบตู้คอนเทนเนอร์
- เพิ่มกำลังความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อตอบสนองความต้องการ ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงสุดได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
- สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วภายใน 12 ถึง 16 สัปดาห์
- ประหยัดพลังงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานในดาตาเซ็นเตอร์ (PUE) อยู่ที่ 3 ถึง 1.5 สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
- โซลูชั่นแบบครบวงจรลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และช่วยให้สามารถใช้งานได้จริงภายในเวลาอันรวดเร็ว
- ขนย้ายได้สะดวก เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเตรียมโลเคชั่น
เกี่ยวกับ ซิสโก้
ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ยกระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซิสโก้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากวิธีการใช้แอปพลิเคชันที่แตกต่างไปจากเดิม การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับทีมของคุณเพื่อโลกแห่งอนาคต เปิดประสบการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเน็ตเวิร์ก และติดตามข่าวสารของซิสโก้บนทวิตเตอร์ที่ Twitter @Cisco.
บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน)
แพลนเน็ตคอม (mai: PLANET) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 และจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยปัจจุบันเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมแบบครบวงจร ให้บริการออกแบบ ติดตั้ง และบริการหลังการขาย สำหรับโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ระบบการสื่อสารแบบรวมศูนย์ ระบบส่งสัญญาณภาพและเสียงแบบดิจิทัล ระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ ไอโอทีแพลทฟอร์ม การวิเคราะห์ภาพและข้อมูลอัจฉริยะ การแพทย์ทางไกล เทคโนโลยียานพาหนะไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับและพัฒนาประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero-Carbon) ยกระดับภาคการผลิตไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต (Increasing Productivity) รวมไปถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน (Improving a Quality of Life)