SAP พัฒนาระบบ Blockchain สำหรับธุรกิจเภสัชกรรม แก้ไขปัญหาการคืนยาปลอม

0
Source: ShutterStock.com

ยาที่ขายไม่ออกในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้นมักจะถูกส่งคืนไปยังโรงงานผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปขายใหม่ โดยถึงแม้อัตราของยาที่ถูกส่งคืนเหล่านี้จะมีเพียงแค่ 2-3% แต่นั่นก็นับเป็นมูลค่าเกินกว่า 6,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 192,000 ล้านบาทในแต่ละปี SAP จึงได้นำ Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ถูกส่งคืนมานี้จะเป็นยาของจริงที่ถูกผลิตโดยบริษัทยาแห่งนั้นจริงๆ

 

Source: ShutterStock.com

 

จากข้อมูลอ้างอิงของ Reuters นั้นระบุว่าตลาดยาปลอมนั้นอาจมีขนาดใหญ่ถึง 200,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 6.4 ล้านล้านบาท ซึ่งยาปลอมเหล่านี้ก็แพร่ระบาดอย่างมากในกลุ่มประเทศโลกที่สาม อย่างไรก็ดี ในเหล่าประเทศที่พัฒนาเองแล้วก็อาจมียาปลอมเหล่านี้แพร่กระจายไปสู่มือผู้บริโภคจากการทุจริตด้วยการส่งยาปลอมคืนไปยังผู้ผลิต และผู้ผลิตเองก็นำกลับมาจำหน่ายใหม่โดยไม่ได้ตรวจสอบเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้กฏหมายของยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นจึงระบุให้มีการกำหนดเลข Serial หรือ Barcode สำหรับยาเพื่อใช้ในการตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่มีฐานข้อมูลยาในส่วนนี้แบบรวมศูนย์

ตรงนี้เองจึงเป็นจุดที่ทำให้ SAP ตัดสินใจนำ Blockchain มาใช้แก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาโซลูชัน SAP Advanced Track and Trace for Pharmaceuticals (ATTP) ที่ทำการบันทึกค่า 4 ค่าลงไปยัง Blockchain ได้แก่ Item Number (ตามมาตรฐาน GS1), เลข Serial Number, เลข Batch Number และวันหมดอายุของยา รวถึงมีการพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถติดตามได้ว่ายาชุดนี้ถูกส่งต่อจากผู้ผลิตไปยังตัวแทนจำหน่ายรายใด และถูกส่งต่อไปยังช่องทางใดบ้าง ดังนั้นเมื่อมีการนำยาเหล่านี้มาคืน ผู้ผลิตก็สามารถตรวจสอบเส้นทางของการขาย, ความถูกต้องของข้อมูล, เลขต่างๆ ซ้ำหรือไม่ และประเมินได้ว่ายาชุดนี้เป็นยาจริงหรือยาปลอม

เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เคยถูกทดสอบไปแล้วเมื่อปี 2017 และกำลังจะถูกทดสอบอีกครั้งในปี 2018 นี้

สำหรับในอนาคต เทคโนโลยีนี้เองก็อาจถูกต่อยอดไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย ด้วยการบันทึกข้อมูลอื่นๆ ตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม และปรับกระบวนการการจัดเก็บหรือตรวจสอบข้อมูลให้เหมาะสมลงไปยัง Blockchain นั่นเอง

 

ที่มา: https://www.ledgerinsights.com/sap-pharma-supply-chain/