“AI ในเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19” เดินหน้าหรือถดถอย?

0

เศรษฐกิจทั่วโลกค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 เริ่มบรรเทาลง แต่ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกต่างหวังว่าทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาวะปกติในไม่ช้า แต่เทคโนโลยีอย่าง AI ก็ได้สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

AI ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของปีที่ผ่านมา เมื่อพนักงานต้องทำงานที่บ้าน องค์กรต่าง ๆ ก็ต้องเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะมากขึ้น และแนวโน้มก็ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวแม้ว่าจะเริ่มมีการจ้างงานและพนักงานเริ่มกลับเข้าออฟฟิศกันก็ตาม

ความหวังฝากไว้กับ AI

รายงานเรื่อง AI ในยุคหลัง COVID-19 โดย GBSN Research เผยว่า ผู้นำธุรกิจ 3 ใน 4 มีมุมมองเชิงบวกต่อ AI และคาดหวังว่า AI จะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการทำให้กระบวนการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจใหม่ อีกรายงานหนึ่งจาก OneStream ผู้ให้บริการโซลูชันการจัดการก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่พบว่า มีการนำเครื่องมือ AI มาใช้ในองค์กรจากเดิม 20% ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเกือบถึง 60% ขององค์กรต่าง ๆ ในปี 2021 แม้ว่าผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 65% ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า AI ทำงานอย่างไร

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อโมเดลธุรกิจยุคหลัง COVID ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานอันส่งผลต่อการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสากรรมต่าง ๆ ก็แตกต่างกันออกไปและขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล ทำให้ทำงานร่วมกันได้ยาก แต่ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) หมายเหตุไว้นั้น โซลูชันการจัดการด้วย AI ทำให้เห็นโครงสร้างอันซับซ้อนได้แบบ end-to-end ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากอุปทานส่วนเกิน เส้นทางการจัดส่งที่คล่องตัว และรูปแบบการซื้อของผู้บริโภค ทั้งหมดนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้มั่นใจว่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ จะไปถึงผู้ป่วยที่ต้องการสิ่งเหล่านี้

ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักนั้น ก็มีบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้โอกาสอัปเกรดระบบและกระบวนการต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี AI อย่าง Alaska Airlines ที่ใช้ระบบจัดการเที่ยวบินด้วย AI ที่รวบรวมและวิเคราะห์ชุดข้อมูลอย่างรวดเร็วกว่าที่ใช้คนทำ ซึ่งสายการบินก็นำมาใช้ลดเวลาเที่ยวบิน ลดการดีเลย์ และลดต้นทุนและ Pain Point ของผู้เดินทาง แต่ทั้งนี้ การนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เป็นการเสริมการทำงานร่วมกับพนักงาน มิได้เป็นการแทนที่พนักงานแต่อย่างใด

Alaska Airlines dispatcher Brad Ward at work at his monitor at Alaska Airlines' Network Operations Center in Seattle on May 14, 2021. Ward is one of dozens of flight dispatchers trained to work alongside a new artificial intelligence program designed to make flights more efficient.
Image credit: Time

ประสบการณ์การซื้อขายในรูปแบบใหม่

อุตสาหกรรมค้าปลีกเองก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในช่วงหลัง COVID โดยธุรกิจค้าปลีกก็ต่างก็หันไปทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดด้วยซ้ำ ยิ่งพอเจอช่วงล็อกดาวน์ ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจด้วย ผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon และ eBay ก็เร่งพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์และการจัดการมาตั้งแต่ก่อน COVID แล้ว และตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือผู้ขายแบบหน้าร้าน ต่างก็หันมาใช้โมเดลลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ก็เนื่องด้วยพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปแม้จะกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ สถานประกอบการค้าปลีกจึงนำ AI มาใช้งานในหลากหลายรูปแบบ เช่น การระบุราคาที่แม่นยำมากขึ้น การหาโอกาสส่งเสริมการขาย และการออกแบบการแสดงผลในร้านที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในอนาคตลูกค้าก็น่าจะได้เห็น AI ขับเคลื่อนเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น จุดให้บริการช่วยเหลือแบบอินเตอร์แอคทีฟ จุดคืนสินค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และหุ่นยนต์เติมสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

Image credit: Possessed Photography via Unsplash

ไม่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอย่างไร AI จะมาแทนที่แรงงานคนอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่นั้น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเลยก็คือ สภาวะปกติของเศรษฐกิจหลังยุค COVID ที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้นจะแตกต่างอย่างมากจากสภาวะปกติที่เราเข้าใจในทุกวันนี้อย่างแน่นอน