Workday ผู้นำด้านโซลูชั่นคลาวด์ระดับองค์กรสำหรับการบริหารการเงินและทรัพยากรบุคคลประกาศว่าบริษัทได้เปิดตัวธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “Engaging Thailand’s Future Workforce”
การเปิดตัวธุรกิจในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อการเติบโตระดับโลกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการนำเสนอบริการด้านการบริหารจัดการทุนมนุษย์ การจัดการการเงิน และแอปพลิเคชันวิเคราะห์ข้อมูลสู่ตลาดใหม่ๆ
สำนักงานเวิร์กเดย์ในประเทศไทยจะให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศไทย อาทิ อโกด้า (Agoda) บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงลูกค้าของเวิร์กเดย์อื่นๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ล่าสุด บริษัทได้ประกาศวันนี้ว่า บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด คือลูกค้ารายล่าสุดในประเทศไทย
เพื่อเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เวิร์กเดย์ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “Engaging Thailand’s Future Workforce” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญตบเท้าเข้าร่วมเสวนาหลายท่าน ได้แก่ นายเดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และ ดร. สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด
ช่วงการเสวนาได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ในการรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นด้านการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถที่สุด เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนแนวโน้มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้วิธีการทำงานของพนักงานเปลี่ยนแปลงไป
ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคง โอกาสที่หลากหลายในที่ทำงานหรืออื่นๆ
นายเดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่าพนักงานแต่ละเจเนอเรชันให้คุณค่าและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคง โอกาสที่หลากหลายในที่ทำงานหรืออื่นๆ ยกตัวอย่างพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (millennials) ให้ความสนใจงานที่มีความยืดหยุ่นหรือทำงานตามความต้องการของตนเองเพิ่มมากขึ้น การทำงานแบบยืดหยุ่นทำให้พนักงานมั่นใจว่าสามารถควบคุมรูปแบบการทำงานในแต่ละวันได้มากขึ้น อีกทั้งมีส่วนสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงานในแบบที่กลุ่มมิลเลนเนียลส์ต้องการ เทคโนโลยีของเวิร์กเดย์สามารถช่วยบริษัทในประเทศไทยประสบความสำเร็จและใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านทรัพยากรบุคคลและการเงินของตนได้ดียิ่งขึ้น
“เวิร์กเดย์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลสามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้โดยใช้พลังของระบบคลาวด์มาช่วยผู้นำทางธุรกิจสามารถตัดสินใจได้ดีที่สุด” มร. โฮป กล่าว “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งถึงความเป็นไปได้ที่จะให้การสนับสนุนบริษัทในประเทศไทยที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเติบโตและประสบความสำเร็จ”
คลาวด์มีความสำคัญต่อธุรกิจทั่วโลกมากขึ้น และประเทศไทยเองก็รับรู้ถึงผลสืบเนื่องจากการที่ธุรกิจต่างๆ กำลังใช้บริการระบบคลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ผลสำรวจในปี พ.ศ. 2560 โดย The Economist Intelligence Unit พบว่าร้อยละ 47 ของบริษัทในประเทศไทยเก็บข้อมูลส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไว้บนระบบคลาวด์
องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างคาดว่าจะย้ายการดำเนินการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมายังระบบคลาวด์ภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างคาดว่าจะย้ายการดำเนินการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมายังระบบคลาวด์ภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า สำหรับประเทศไทย เราเห็นบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง เริ่มมีการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าบริษัทอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบคลาวด์ด้วยภายใน 1-3 ปีข้างหน้านี้”
“ระบบคลาวด์จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการวิเคราะห์การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอีกด้วย”
ทั้งนี้ บริษัทในประเทศไทยควรเริ่มตื่นตัวในการศึกษาและนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบคลาวด์ เข้ามาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงงานด้านอื่นด้วย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสามารถตัดสินใจได้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจของตน เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้นำภาครัฐฯและเอกชนของไทยต่างเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยภาครัฐฯ เองก็ได้ผลักดันให้ดิจิทัลเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศอีกด้วย
สำหรับปีพ.ศ. 2561 นี้ วิทยากรทุกท่านต่างเห็นพ้องกันว่า บริษัทในประเทศไทยจำเป็นต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มความสำเร็จในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในประเทศ
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้น การตระหนักถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ มีอิทธิพลและส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานสามารถช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลและผู้นำด้านการสรรหาบุคลากรสามารถจัดการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ดีขึ้น
ดร. สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น คือความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะพลิกเกมธุรกิจ ในตอนนี้ เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ เช่น โชเชียลเน็ตเวิร์กได้สร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารที่หลากหลายจนการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นทักษะพื้นฐานของทุกคน การปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อให้เข้ากับงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพซึ่งการบริหารจัดการทุนมนุษย์ที่เหมาะสมมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพื่อจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น การสื่อสารที่ดีขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่าสามารถมอบโซลูชั่นที่เพิ่มมูลค่าสำหรับธุรกิจได้อย่างไร ดังนั้นจึงควรใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสุขให้แก่ลูกค้าและสนับสนุนพนักงานที่อุทิศตนให้แก่บริษัท”
ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแรงงานของประเทศไทยว่า “เนื่องด้วยกลุ่มมิลเลนเนียลส์กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้น การตระหนักถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ มีอิทธิพลและส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานสามารถช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลและผู้นำด้านการสรรหาบุคลากรสามารถจัดการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ดีขึ้น”