ส่อง 6 เทรนด์ EdTech 2022: เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต

0

“เพราะการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน” 

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 การเรียนออนไลน์ได้เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม จนมองข้ามความสำคัญของ EdTech (Educational Technology) ไม่ได้อีกต่อไป

แม้จะก้าวล่วงมาถึงปี 2022 แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุด ในประเทศไทยก็ยังต้องให้เยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัยเรียนออนไลน์เป็นหลัก แล้ว EdTech จะพัฒนาไปในทิศทางไหน มีเทคโนโลยีด้านการศึกษาอะไรที่น่าจับตามองบ้างในปี 2022 นี้ พบคำตอบเรื่องเทรนด์ EdTech ปี 2022 ที่ ADPT ได้รวบรวมไว้ในบทความนี้ค่ะ

Bite-sized Learning: บทเรียนพอดีคำ

สมัยนี้โลกอินเทอร์เน็ตต่างช่วงชิงความสนใจของผู้ใช้งานให้ไปใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ถ้าต้องมานั่งเรียนบทเรียนยาว ๆ ผ่านจอเป็นชั่วโมง ๆ ก็คงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังที่ผลวิจัยจาก MIT พบว่า อัตราผู้เรียนที่ออกจากคอร์สออนไลน์กลางคันเพิ่มขึ้นถึง 96%

บริษัท EdTech จึงต้องหันมาสร้างเนื้อหาบทเรียนขนาดกระชับเพื่อตอบสนองความต้องการผู้เรียน แทนที่จะทำบทเรียนจัดเต็มเป็นชั่วโมง ก็ย่อยเป็นบทเรียนที่ใช้เวลาเพียง 5 – 15 นาทีต่อวัน แต่ยังคงได้อัปเดตความรู้เป็นประจำจนสั่งสมเกิดเป็นวินัยการเรียนรู้

ยกตัวอย่างเช่น แอป Headway ที่เล่าสรุปหนังสือขายดีวันละเล่ม ถ้าฟังหรืออ่านบนแอปนี้ทุกวัน ก็จะได้รู้จักกับหนังสือใหม่ถึง 365 เล่ม ภายในหนึ่งปี เหมาะกับคนที่อยากอ่านหนังสือแต่ไม่มีเวลา เป็นต้น

Image credit: Shutterstock

Asynchronous Learning: เรียนตามสะดวก ต่างที่ ต่างเวลาก็เรียนได้

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้ครูกับนักเรียนไม่ต้องอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกันถึงจะจัดการเรียนการสอนได้ แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราน่าจะได้เห็นทิศทางของการสร้างสื่อการสอนให้เข้าถึงได้สำหรับผู้เรียนทุกคนมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่การเรียนการสอนรูปแบบ Asynchronous learning ก็ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาได้แบบออฟไลน์ โดยไม่ต้องไปถึงห้องสมุดหรือที่สาธารณะ ครูผู้สอนก็สามารถใช้วิธีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Hybrid learning หรือ Blended learning) เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้ 

Asynchronous learning ยังมีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะผู้เรียนสามารถเรียนตามขีดความสามารถในการเรียนรู้ของตนได้ ซึ่งในความจริงแล้ว นักเรียนแต่ละคนมีทักษะในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้เรียนจึงไม่ต้องเร่งให้เท่ากับนักเรียนคนอื่นเหมือนที่เรียนอยู่ในห้องเรียนแบบดั้งเดิมก็ได้ แต่ยังสามารถจัดการเรียนรู้ของตนให้อยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสมและมีอิสระในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้และความเห็นจากครูผู้สอนได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่

Image credit: Shutterstock

AI-Personalized Learning: บทเรียนปรับแต่งเฉพาะบุคคลด้วย AI

การเรียนรู้แห่งอนาคตจะไม่ได้เป็นการอัดบทเรียนเยอะ ๆ อีกต่อไป แต่จะนำพาไปสู่การปรับบทเรียนตามแต่เฉพาะบุคคล ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสร้าง Personalized learning ก็คือ AI ในการเป็นเครื่องมือคัดสรรแนะนำบทเรียนแก่ผู้เรียนแต่ละคน 

หลักการทำงานของ AI ก็คล้าย ๆ กับอัลกอริธึมตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ระบบอัลกอริธึมบน Netflix ที่แนะนำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ผู้ชมน่าจะชอบดูตามประเภทที่ผู้ชมมักรับชมเป็นประจำ ระบบ AI ที่ใช้เพื่อการศึกษาก็เช่นกัน หากผู้เรียนสนใจวิชาหรือทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ ระบบ AI บนแพลตฟอร์มการเรียนนั้นก็จะส่งเนื้อหาการเรียนที่ตอบโจทย์หรือใกล้เคียงกับความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียนให้มากที่สุด

Image credit: Shutterstock

Gamification: เปลี่ยนเรื่องเรียนให้เป็นเรื่องเล่น

การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้สนุกเป็นหัวใจสำคัญของหลักการ Gamification เพื่อการศึกษา ซึ่งก็คือ การประยุกต์ใช้เกมเพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งย่อยบทเรียนและให้รางวัลเมื่อเรียนเสร็จในแต่ละบท การมอบตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นรางวัลแทนการให้เกรด และการจัดลำดับผู้ชนะให้เด็กนักเรียนได้รู้สึกสนุกที่ได้แข่งขันกัน

แอปสอนภาษาชื่อดังอย่าง Duolingo เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Gamification ที่ให้ผู้เรียนได้เล่นเกมฝึกภาษาในทุก ๆ วัน หรืออีกแพลตฟอร์มหนึ่งอย่าง Kahoot ก็ถูกใช้เป็นตัววัดประเมินผลผู้เรียนแบบที่ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกกดดันในขณะที่ยังคงรู้สึกสนุกกับการแข่งตอบคำถามให้ถูกต้องและเร็วที่สุดด้วย แม้แต่วิชาที่น่าเบื่ออย่างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม Google Arts & Culture ก็สามารถแปลงบทเรียนให้เป็นเกมสนุก ๆ ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนเว็บได้อีกด้วย

ตลาดการศึกษาโดยใช้เกมเป็นหลักทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 29 ในช่วงปี 2021 และปี 2027 ดังนั้น Gamification จึงนับว่าเป็น EdTech อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองตลอดปี 2022 นี้

Image credit: Robo Wunderkind via Unsplash

Blockchain: บล็อกเชนเพื่อระบบนิเวศน์ทางการศึกษา

บล็อกเชนอยู่ในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา ซึ่งมีการนำบล็อกเชนไปใช้บนแพลตฟอร์มทางการศึกษาเพื่อสร้างระบบนิเวศน์การเรียนรู้แบบไร้ศูนย์กลาง มั่นคงปลอดภัยและโปร่งใส ช่วยเชื่อมโยงผู้เรียน ผู้สอน เจ้าหน้าที่การศึกษา กับแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน

บล็อกเชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยความสามารถของ Smart contract ทำให้คอร์สและบทเรียนต่าง ๆ สามารถตั้งโปรแกรมและนำเสนอได้อัตโนมัติตามเงื่อนไข อีกทั้งวัดประเมินความก้าวหน้าได้แบบเรียลไทม์ 

Blockchain ยังช่วยสถาบันการศึกษาในการเก็บรักษาเอกสารและบันทึกต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรับสมัคร สถิติการเข้าเรียน บันทึกรายรับรายจ่าย รวมไปถึงคะแนนและเกรดของผู้เรียนด้วย มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล สามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้เมื่อต้องการ ทั้งหมดนี้นับว่า บล็อกเชนเข้ามาช่วยลดงานที่ต้องใช้แรงคนได้เยอะพอสมควร

Image credit: Shubham Dhage via Unsplash

VR, AR, XR: เสริมประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยโลกเสมือน

เครื่องมืออย่าง VR (Virtual reality), AR (Augmented reality) และ XR (Extended reality) ได้กลายมาเป็นสื่อการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เปิดโลกเสมือนให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่แหวกแนวไปจากการเรียนผ่านหนังสือแบบดั้งเดิม เปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบนั่งอยู่กับที่มาเป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสภาพแวดล้อมเสมือน และด้วยขนาดอุปกรณ์ที่เล็กลงในราคาที่ลดลงด้วย ผู้เรียนก็น่าจะเข้าถึงชุดอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ในไม่ช้า

หลังจากที่ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ได้ประกาศถึงแนวคิด Metaverse เมื่อช่วงปลายปี 2021 โลกแห่งการเรียนรู้ก็ยิ่งเข้าใกล้ยุค Metaverse เข้าไปอีกขั้น และยิ่งทวีความสำคัญของเทคโนโลยีโลกเสมือนดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของตลาด AR/VR ที่แตะสูงถึง 18.8 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2021 และส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนที่มุ่งเน้นเพื่อประยุกต์ใช้งานเพื่อการศึกษา ซึ่ง ABR Research ได้คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2022 ตลาดการใช้งาน VR จะขยายการใช้งานภายในองค์กร และแตะถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์ด้วย

Image credit: Shutterstock

บทสรุป

เทรนด์เทคโนโลยีทางการศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น แม้ว่าบางอย่างจะไม่ใช่สิ่งใหม่และเป็นที่รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นต่อจากนี้คือ การขยายผลการประยุกต์ใช้งานจริงในวงกว้างมากขึ้น รวมไปถึงการเกิดใหม่ของ EdTech Startup หลาย ๆ ราย ที่เล็งเห็นโอกาสของการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ต้องรอดูกันว่าอนาคตของวงการ EdTech หลังจากนี้จะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อไป